การศึกษาวิเคราะห์ภาพล้อสังคมไทยในสื่อสังคมออนไลน์

Main Article Content

สุวรรณา งามเหลือ

Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพล้อสังคมไทยในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเก็บข้อมูลจากเว็บไซด์ภาพล้อการเมือง สืบค้นโดย Google ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วรรณกรรมสื่ออารมณ์ขันและงานวิจัยเกี่ยวกับการ์ตูนการเมือง อาศัยกรอบแนวคิดทฤษฎีสัญญะวิทยา(Semiology) ของ Ferdenand de Saussure ผลการ ศึกษาจำแนกภาพล้อออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาพล้อประเภทภาพกรอบเดียวและภาพล้อประเภทภาพหลายกรอบ ภาพล้อประเภทภาพกรอบเดียว จำแนกได้ 11 รูปแบบ รูปแบบที่พบมากที่สุด ได้แก่ รูปแบบโปสเตอร์ภาพยนตร์ ภาพล้อประเภทภาพหลายกรอบ มีรูปแบบเดียว คือ แบบภาพต่อเนื่อง ด้านเนื้อหา ประเด็นที่ถูกล้อมากที่สุด คือ เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ผู้ที่ถูกล้อมากที่สุดในประเภทภาพล้อเดี่ยว คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ที่ถูกล้อมากที่สุดในประเภทภาพล้อกลุ่ม คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเครื่องมือในการล้อ มี 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องมือประเภทภาพ เครื่องมือประเภทชื่อ และเครื่องมือประเภทเนื้อความ วิธีล้อ มี 3 วิธี ได้แก่ วิธีล้อแบบใช้เครื่องมือประเภทเดียว วิธีล้อแบบใช้เครื่องมือ 2 ประเภท และวิธีล้อแบบใช้เครื่องมือ 3 ประเภท ลักษณะเด่นในการใช้ถ้อยคำภาษา พบมากอันดับ 1 ได้แก่ การใช้คำไม่สุภาพ อันดับ 2 การใช้คำสร้างจินตภาพ อันดับ 3 การใช้ภาษาต่างประเทศ   อันดับ 4 การใช้คำตัดสั้นหรือคำย่อ และอันดับ 5 การใช้คำทับศัพท์ ด้านความหมาย ภาพล้อสื่อความหมายใน 2 ลักษณะ ได้แก่ การสื่อความหมายโดยตรงและการสื่อความหมายโดยนัย ภาพล้อเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นบริบทของสังคมไทยทั้งด้านลักษณะนิสัยของความมีอารมณ์ขัน ความรู้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ความมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความนิยมของคนในสังคม ทั้งยังเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนภาพเพื่อร้องบอกแก่บุคคล โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะในแง่มุมต่างๆ ภาพล้อเหล่านี้มีผลกระทบต่อความรู้สึกและจิตใจของผู้ถูกล้อ ดังนั้น ผู้ผลิตภาพล้อควรต้องมีความระมัดระวัง ไม่นำเสนอภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาพอุจจาดหรืออนาจาร หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาหยาบคาย ก้าวร้าว หรือคำสบถ ที่แสดงถึงการดูหมิ่นหรืออคติ และ นำเสนอเนื้อหาอย่างเป็นธรรมด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริง

Article Details

Section
Research articles