การวิเคราะห์จริยธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมพระมาลัย ฉบับอักษรขอมโบราณ
Main Article Content
Abstract
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาของเรื่องพระมาลัยที่ปรากฏในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาหลักจริยธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องพระมาลัยฉบับอักษรขอมโบราณ (๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลของวรรณกรรมเรื่องพระมาลัยฉบับอักษรขอมโบราณ งานวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิเคราะห์เอกสาร โดยวิเคราะห์จากเรื่องพระมาลัยฉบับอักษรขอมโบราณเป็นหลัก และ นำเสนอรายงานการวิจัยด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์
ผลของการวิจัยพบว่า วรรณกรรมเรื่องพระมาลัยฉบับอักษรขอมโบราณ มีลักษณะพิเศษอยู่หลายประการ คือ ได้สอดแทรกจริยธรรมในพระพุทธศาสนาไว้สอนให้ประชาชนคนรุ่นหลัง เช่นสอนให้รู้จักบูชาพระรัตนตรัย สอนให้รู้จักให้ การประกอบกุศลกรรม รักษาศีล การฟังธรรม ความกตัญญูกตเวที ความไม่ประมาทและหลักจริยธรรมสำหรับครองเรือน อันเป็นหลักธรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติประสบแต่ความสุขความเจริญ
วรรณกรรมเรื่องพระมาลัยฉบับอักษรขอมโบราณ นอกจากจะได้สอดแทรกหลักจริยธรรมในพระพุทธศาสนาแล้วยังเป็นวรรณกรรมสำคัญในการก่อให้เกิดประเพณีไทยหลายประการ ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย เช่นประเพณีการทำบุญมหาชาติ การสวดพระมาลัย การทำกรวยดอกไม้ใส่มือศพและการการกรวดน้ำให้แก่ผู้วายชนม์เป็นต้น ด้านวรรณศิลป์ มีนักกวีหลายท่านได้นำเรื่องของพระมาลัยมาแทรกไว้ในงานเขียนของตน ให้เป็นที่น่าสนใจและน่าเชื่อถือ อีกทั้งแทรกคำสอนในพระพุทธศาสนาไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยงานประพันธ์อันทรงคุณค่า เช่นในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผนและเรื่องพระมาลัยคำหลวง เป็นต้น ในด้านศิลปกรรม จะเห็นได้ว่า ประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่างๆได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมเรื่องนี้ เช่นเรื่องนรกสวรรค์ เรื่องพระมาลัยและเรื่องของพระศรีอาริยเมตไตรย เป็นต้น และเรื่องความเชื่อของคนในสังคมไทย มีความเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ เรื่องกรรม และเรื่องพระศรีอาริยเมตไตรย ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของชาวพุทธอย่างแยกกันไม่ออก เพราะได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมเรื่องพระมาลัยนี้เอง