การพัฒนาทักษะการเรียนรู้อักษรคันจิของนักศึกษานักศึกษาชาวไทยโดยใช้กิจกรรม เชื่อมโยงภาพ : กรณีศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

Main Article Content

กิติกาญจน์ รัตนพิทักษ์

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอักษรคันจิ  2) ศึกษาความคงทนในการจำอักษรคันจิ และ3) ศึกษาเกี่ยวกับเจตคติของผู้เรียนที่มีต่อกิจกรรมเชื่อมโยงภาพ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ไม่มีพื้นฐานการเรียนอักษรคันจิมาก่อนจำนวน 25 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาที่มาจากหลายสาขาวิชาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่น 2 (Japanese 2) ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2557 ระยะเวลาในการจัดกิจกรรมคือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 1 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 สัปดาห์ รวมทั้งหมด 10 ชั่วโมง  ผู้วิจัยดำเนินการวิจัยแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนกับผู้เรียนกลุ่มเดียว (One group pretest – posttest  design)  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และคะแนนมาตรฐาน (T-test)

           ผลการวิจัยพบว่า ผลการเรียนอักษรคันจิด้วยกิจกรรมการเชื่อมโยงภาพกับตัวอักษรหลังเรียนของผู้เรียนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 16.12 คะแนน และผู้เรียนมีความคงทนในการเรียนอักษรคันจิอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 0.64 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการเรียนการสอนให้ผลสัมฤทธิ์ไปในทิศทางบวก  และจากการวิเคราะห์แบบสอบถามความพึงพอใจ พบว่าผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้อักษรคันจิด้วยรูปภาพอยู่ในระดับมาก และมีแนวโน้มว่าจะนำเอาวิธีการเชื่อมโยงรูปภาพไปใช้เพื่อการเรียนอักษรคันจิด้วยตนเองด้วย ทั้งนี้ พบว่ากิจกรรมการเชื่อมโยงภาพกับตัวอักษรนั้นเหมาะสำหรับผู้เรียนในระดับต้น เพราะให้ผลที่ดีเฉพาะในระดับคำศัพท์เท่านั้น 

Article Details

Section
Research articles