https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/issue/feed มังรายสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 2024-06-13T09:25:29+07:00 อาจารย์ ดร.อดิสรณ์ ประทุมถิ่น (Dr. Adisorn Prathoomthin) mangraisaan@crru.ac.th Open Journal Systems <p><strong>เกี่ยวกับวารสาร</strong></p> <p> “<strong>มังรายสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันภาษาและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย</strong>” จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่บทความวิจัย และบทความวิชาการ ทางด้าน Social Sciences แยกเป็นสาขาย่อย ได้แก่ General Arts and Humanities, Language and Linguistics, Religious studies, Education, Cultural Studies และสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง มีวาระการออกปีละ 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 (ประจำเดือนมกราคม - มิถุนายน) และฉบับที่ 2 (ประจำเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม) ซึ่งได้จัดทำเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มจัดทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ทั้งนี้บทความที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ ต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับบทความ (Peer Review) จำนวน 3 คน โดยข้อมูลของผู้ประเมินและผู้เขียน(ผู้นิพนธ์) จะไม่ถูกเปิดเผย (Double-blind Peer review)</p> <p> </p> <p><strong>ISSN</strong> (Print) : 2672-9113</p> <p><strong>ISSN</strong> (Online) : 2673-0170</p> <p> </p> <p>ภาษาที่พิมพ์ : ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ</p> <p>กำหนดออกปีละ 2 ฉบับ (มกราคม - มิถุนายน และ กรกฎาคม - ธันวาคม)</p> <p> </p> <p>*** หมายเหตุ ***</p> <p>- ทัศนะและข้อคิดเห็นของบทความที่ปรากฏในวารสารฯ ฉบับนี้เป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน ไม่ถือว่าเป็นทัศนะและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการวารสารฯ</p> <p>- ไม่มีค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์</p> <p> </p> <p><strong>ประกาศ</strong><br /> การเผยแพร่บทความผ่านระบบออนไลน์ (เว็บไซต์วารสาร) <strong>ตั้งแต่ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม - มิถุนายน 2567</strong> เป็นต้นไป กองบรรณาธิการจะดำเนินการขอรหัสทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล หรือ ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (Digital Object Identifier : DOI) ให้กับทุกบทความ กรณีผู้เขียนไม่ต้องการรหัส DOI สำหรับบทความกรุณาแจ้งกองบรรณาธิการเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน</p> <p> ในส่วนของบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ (เว็บไซต์วารสาร) <strong>ก่อนปีที่ 12 ฉบับที่ 1</strong> ผู้เขียนที่มีความประสงค์ขอรับรหัส DOI สำหรับบทความ โปรดแจ้งต่อแจ้งกองบรรณาธิการมังรายสาร</p> <p> ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม <a href="https://sites.google.com/crru.ac.th/mangraisaan-doi/home" target="_blank" rel="noopener">&gt;&gt; Click ที่นี่ &lt;&lt;</a></p> https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/268332 การพัฒนานวัตกรรมพื้นที่การเรียนรู้ “ศิลปินด้านวรรณศิลป์” จังหวัดสุโขทัย 2023-12-12T09:30:01+07:00 ภาคภูมิ สุขเจริญ Pakpooms@nu.ac.th สุวรรณี ทองรอด suwanneet.au@gmail.com เพ็ญพิชญา เพ็งศรี มูฮาเน่น penpitchayap@nu.ac.th <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อนำเสนอการใช้กระบวนการศึกษาท้องถิ่นในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินด้านวรรณศิลป์ของจังหวัดสุโขทัย 2) เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์กลวิธีที่สร้างความโดดเด่นในผลงานด้านวรรณศิลป์ของจังหวัดสุโขทัย และ 3) เพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปินจังหวัดสุโขทัย ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลในพื้นที่ในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งผ่านการคัดกรองบุคคลจากภาคีเครือข่ายแล้ว</p> <p>ผลการวิจัยด้านการใช้กระบวนการศึกษาท้องถิ่นในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศิลปิน ได้ข้อมูลศิลปินจำนวน 8 คน ด้านการวิเคราะห์และสังเคราะห์กลวิธีที่สร้างความเด่นในผลงานของศิลปินด้านวรรณศิลป์ พบลักษณะเด่นด้านวรรณศิลป์ ได้แก่ การสรรคำ การเรียบเรียงคำ และการใช้สำนวนโวหาร ส่วนลักษณะเด่นด้านเนื้อหาในวรรณกรรม พบว่ามีการเชื่อมโยงบริบทท้องถิ่น สภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของศิลปินเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานให้โดดเด่นเป็นที่ยอมรับของท้องถิ่น</p> <p>ผลการวิจัยด้านความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปินจังหวัดสุโขทัย พบว่า ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก และระดับจังหวัดสุโขทัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมพื้นที่การเรียนรู้โดยการจัดกิจกรรมการเปิดหอศิลปินสุโขทัย การประพันธ์บทการแสดงนาฏยศิลป์ประเภทลิเกเยาวชน และการถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมทั้งการฝึกทักษะการเขียนเชิงปฏิบัติการของศิลปินด้านวรรณศิลป์สู่เยาวชนผู้สนใจในจังหวัดสุโขทัย</p> 2024-06-13T00:00:00+07:00 Copyright (c) 2024 มังรายสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/269917 การศึกษานามวลีแปลง “การ-” และ “ความ-” ในทำเนียบภาษางานวิชาการ ภาษาการรายงานข่าว และภาษาการเขียนวิจารณ์ 2024-02-13T17:00:16+07:00 นพวรรณ เมืองแก้ว noppawan.m@psu.ac.th <p>งานวิจัยนี้ศึกษาโครงสร้างและความซับซ้อนรวมทั้งวัตถุประสงค์ในการใช้นามวลีแปลง “การ-” และ “ความ-” ในทำเนียบภาษา 3 ประเภท งานวิจัยนี้วิเคราะห์โดยใช้กรอบแนวคิดโครงสร้างและความซับซ้อนของนามวลีแปลงในภาษาไทย โดยเก็บข้อมูลคำว่า “การ-” และ “ความ-” จากคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติ โดยเลือกกลุ่มข้อมูลจากทำเนียบภาษา 3 ประเภท ได้แก่ 1) ภาษางานวิชาการ 2 ) ภาษาการรายงานข่าว และ 3) ภาษาการเขียนวิจารณ์ เก็บข้อมูลประเภทละ 200 ตัวอย่าง จำนวน 2 คำ รวมเป็น 1,200 ตัวอย่าง ผลการวิจัยจากข้อมูลโครงสร้างนามวลีแปลง “การ-” และ “ความ-” พบรูปแบบโครงสร้างที่หลากหลาย แบ่งลักษณะโครงสร้างออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) โครงสร้างแบบพื้นฐาน 2) โครงสร้างที่เริ่มมีความซับซ้อน และ 3) โครงสร้างที่มีความซับซ้อนมาก ในส่วนการวิเคราะห์ด้านวัตถุประสงค์ของการใช้นามวลีแปลง “การ-” และ “ความ-” ในทำเนียบภาษา 3 ประเภท พบการใช้นามวลีแปลงทั้งสองคำนี้ในวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อทำให้เป็นนามธรรม ลดความเป็นปัจเจก เปลี่ยนให้เป็นความหมายทั่วไป 2) เพื่อซ่อนเร้นผู้กระทำในเหตุการณ์ที่อ้างถึง และ 3) เพื่อสร้างมโนทัศน์ที่เน้นไปยังการรวมเอาองค์ความรู้หรือทฤษฎีต่าง ๆ มากล่าวถึงอย่างเป็นทั่วไป</p> 2024-06-13T00:00:00+07:00 Copyright (c) 2024 มังรายสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/270278 การศึกษาคำเรียกชื่ออาหารภาษาจีนของชาวไทยเชื้อสายจีนแคะในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตามแนวอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ 2024-02-23T09:37:02+07:00 นารีรัตน์ วัฒนเวฬุ nareerat.s@psu.ac.th <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์โครงสร้าง องค์ประกอบทางความหมายของคำเรียกชื่ออาหารภาษาจีน และวัฒนธรรมการบริโภคที่สะท้อนผ่านคำเรียกชื่ออาหารภาษาจีนของชาวไทย เชื้อสายจีนแคะในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยวิเคราะห์โครงสร้างและองค์ประกอบทางความหมาย ของคำเรียกชื่ออาหารภาษาจีนที่ประยุกต์ตามแนวทางการศึกษาของ ชนกพร อังศุวิริยะ (2555, 2557) และวิเคราะห์วัฒนธรรมการบริโภคที่สะท้อนผ่านคำเรียกชื่ออาหารภาษาจีนตามแนวอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ โดยใช้วิธีดำเนินการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เครื่องมือวิจัยคือแบบสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงคือชาวไทยเชื้อสายจีนแคะในอำเภอเบตง จำนวน 6 คน รวมถึงข้อมูลจากเอกสาร วิเคราะห์ข้อมูลคำเรียกชื่ออาหารภาษาจีน จำนวน 368 คำ โดยการหาค่าร้อยละและนำเสนอข้อมูลเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่า (1) โครงสร้างของคำเรียกชื่ออาหารภาษาจีน ด้านพยางค์พบจำนวน 5 พยางค์มากที่สุด ด้านการสร้างคำพบคำประสมที่เป็นรูปแบบประธาน-ภาคแสดงมากที่สุด และด้านโครงสร้าง พบกลุ่มวัตถุดิบของอาหารมากที่สุด (2) องค์ประกอบทางความหมายในมิติอาหารจีนพบอรรถลักษณ์ [ไทยจีน] มากที่สุด มิติวิธีการประกอบอาหาร จำนวน 15 อรรถลักษณ์ พบอรรถลักษณ์วิธีการประกอบอาหาร [ผัด] มากที่สุด และมิติวัตถุดิบของอาหาร จำนวน 21 อรรถลักษณ์ พบอรรถลักษณ์ [หมู] มากที่สุด (3) วัฒนธรรมการบริโภคพบว่าคำเรียกชื่ออาหารภาษาจีนกำหนดจากเนื้อสัตว์เป็นหลัก มีความยืดหยุ่น ในการใช้คำโดยให้ความสำคัญกับคำในตำแหน่งแรกที่ปรากฏ มีความเป็นอยู่เรียบง่ายจากการบริโภคสัตว์ และพืชผักที่มีในท้องถิ่น เน้นอาหารที่ปรุงสุกโดยใช้ความร้อน รสไม่จัด นอกจากนี้ ยังพบคำเรียกชื่ออาหารภาษาจีนที่สะท้อนความเป็นมงคลและเลี่ยงใช้คำที่ไม่รื่นหู</p> 2024-06-13T00:00:00+07:00 Copyright (c) 2024 มังรายสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/270453 การศึกษาความแตกต่างเชิงความหมายของคำว่า “神(shén)” และ “仙(xiān)” 2024-02-20T16:19:34+07:00 วาริ ว่องวโรปกรณ์ wari44653@gmail.com ศิริพร นวมอารีย์ siriporn.nu2544@gmail.com <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายทางความหมายของคำว่า “神” และ “仙” โดยศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร พจนานุกรมจีน-ไทยฉบับใหม่ 《现代汉泰词典》 ฉบับปี พ.ศ. 2563 โดยเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ มาวิเคราะห์ความหมายคำภายใต้ทฤษฎีของ 张道新 (2014) จากกระบวนการสร้างคำประสมบนพื้นฐานแนวคิดของ Jerome L. Packard (2000) ผลการวิจัยพบว่า 1) คำประสมที่มีคำว่า “神” เป็นคำขึ้นต้น จำนวน 95 คำ 101 ความหมาย และคำประสมที่มีคำว่า “仙” เป็นคำขึ้นต้น จำนวน 15 คำ 17 ความหมาย โดยคำว่า “神” มีความหมายไม่ใกล้ความหมายแรกเริ่ม รวม 56 คำ 60 ความหมาย ร้อยละ 59.4 และคำว่า “仙” มีความหมายใกล้เคียงความหมายแรกเริ่ม รวม 7 คำ 8 ความหมาย ร้อยละ 47.05 2) คำศัพท์และสำนวนที่มี “神” เป็นอักษรนำประกอบไปด้วย ความหมายพื้นฐาน 1 ความหมาย ความหมายขยายใกล้ (近引申义jìn yǐnshēn yì) 6 ความหมาย ความหมายขยายไกล (远引申义 yuǎn yǐnshēn yì) 6 ความหมาย และความหมายอุปลักษณ์ 4 วงมโนทัศน์ ส่วนคำศัพท์และสำนวนที่มี “仙” เป็นอักษรนำประกอบไปด้วย ความหมายพื้นฐาน 1 ความหมาย ความหมายขยายใกล้ 3 ความหมาย ความหมายขยายไกล 1 ความหมายและความหมายอุปลักษณ์ 1 วงมโนทัศน์</p> 2024-06-13T00:00:00+07:00 Copyright (c) 2024 มังรายสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/270945 พฤติกรรมสารสนเทศของบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนเพื่อเสริมสร้างพฤฒิพลังในตนเองสำหรับประชากรผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชร 2024-03-05T14:54:34+07:00 โชคธำรงค์ จงจอหอ chokthamrong@g.swu.ac.th สุวิทย์ วงษ์บุญมาก siriporn.nu2544@gmail.com <p>การศึกษาเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมสารสนเทศของบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน ใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ความต้องการสารสนเทศ (2) การแสวงหาสารสนเทศ และ (3) การใช้สารสนเทศและปัญหาในการใช้สารสนเทศ เพื่อเสริมสร้างพฤฒิพลังในตนเองให้กับประชากรผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชร เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก เครื่องมือวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ กึ่งโครงสร้าง การเลือกผู้ให้ข้อมูลหลักใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาและตีความข้อสรุปแบบอุปนัย สำหรับกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีที่นำมาใช้ในการวิจัย คือ ทฤษฎีพฤติกรรมสารสนเทศซึ่งเป็นแนวคิดที่ศึกษาพฤติกรรมทั้งมวลของผู้ใช้สารสนเทศ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 18 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุอยู่ระหว่าง 30-39 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร และมีประสบการณ์ในการให้บริการผู้สูงอายุมาแล้วไม่ต่ำกว่า 11 ปี สำหรับผลการศึกษาพฤติกรรมสารสนเทศ พบว่า (1) ผู้ให้ข้อมูลหลักต้องการสารสนเทศเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการเข้าถึงสารสนเทศสำหรับผู้สูงอายุมากที่สุด (2) การแสวงหาสารสนเทศผู้ให้ข้อมูลหลักได้ใช้หลากหลายช่องทาง ได้แก่ หนังสือ วารสาร เว็บไซต์ คลิปวิดีโอ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้สารสนเทศเกี่ยวกับผู้สูงอายุ รวมไปถึงสอบถามตัวผู้สูงอายุเองเพื่อให้สามารถออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้พฤฒิพลังและกิจกรรมการพัฒนาอาชีพเสริม ให้กับตรงกับความต้องการของผู้สูงอายุมากที่สุด (3) การใช้สารสนเทศ ผู้ให้ข้อมูลหลักได้ใช้สารสนเทศตาม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการให้บริการสารสนเทศสำหรับผู้สูงอายุ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และด้านการสนับสนุนอาชีพเสริมสำหรับผู้สูงอายุ</p> 2024-06-13T00:00:00+07:00 Copyright (c) 2024 มังรายสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/270337 โครงสร้างของคำเรียกผู้ชายในวรรณกรรมค่าวซอ 2024-02-29T13:44:32+07:00 อนาวิล โอภาประกาสิต pinganawinst45@gmail.com ภคภต เทียมทัน pakapot.th@cmu.ac.th <p>บทความฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างของคำเรียกผู้ชายในวรรณกรรมค่าวซอ เก็บข้อมูลจากวรรณกรรมค่าวซอ ฉบับร้านประเทืองวิทยา พ.ศ. 2511 จำนวน 10 เรื่อง โดยใช้แนวคิดภาษาวรรณคดีและแนวคิดการวิเคราะห์ส่วนประชิดในการวิเคราะห์โครงสร้างและจำแนกประเภทของคำเรียกผู้ชาย ผลการศึกษาพบว่า โครงสร้างของคำเรียกผู้ชายในวรรณกรรมค่าวซอ มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนหลักและส่วนขยาย โดยส่วนหลักมีองค์ประกอบสำคัญคือ คำหลัก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ต้องปรากฏในโครงสร้างของคำเรียกผู้ชายเสมอ ส่วนส่วนขยายนั้น มีองค์ประกอบสำคัญ คือ คำขยายประกอบหน้า และคำขยายประกอบหลัง ซึ่งทำหน้าที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับเพศ สถานภาพ ยศและศักดิ์ของตัวละครผู้ชาย ทั้งนี้ ส่วนขยายจะปรากฏในโครงสร้างของคำเรียกผู้ชายหรือไม่ก็ได้ เมื่อพิจารณาคำเรียกผู้ชายในวรรณกรรมค่าวซอจำนวน 10 เรื่องแล้ว ปรากฏคำหลักจำนวน 306 คำ จากการปรากฏของคำเรียกผู้ชายจำนวน 1,727 ตำแหน่ง สามารถจำแนกโครงสร้างของคำเรียกผู้ชายในวรรณกรรมค่าวซอได้ 4 โครงสร้าง ได้แก่ โครงสร้างแบบส่วนหลักปรากฏจำนวน 458 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 26.52 โครงสร้างแบบส่วนหลัก ส่วนหลักปรากฏจำนวน 231 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 13.38 โครงสร้างแบบส่วนหลัก ส่วนขยายปรากฏจำนวน 71 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 4.11 และโครงสร้างแบบส่วนขยาย ส่วนหลักปรากฏจำนวน 967 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 55.99 โครงสร้างของคำเรียกผู้ชายที่แตกต่างกันและสามารถจำแนก ได้หลายโครงสร้างดังกล่าวแสดงให้ทราบถึงกลวิธีในการสร้างคำเรียกผู้ชายในวรรณกรรมค่าวซอ</p> 2024-06-13T00:00:00+07:00 Copyright (c) 2024 มังรายสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ https://so04.tci-thaijo.org/index.php/mrsj/article/view/270047 เลือดข้นคนจาง : การวิเคราะห์ผลกระทบที่เพศชายได้รับจากสังคมชายเป็นใหญ่ 2024-02-23T09:38:03+07:00 พันวัสสา แก้วกำเนิด panvassa.k@ku.th สิทธานุช พูลผล sitthanuch.p@ku.th จตุวิทย์ แก้วสุวรรณ์ chatuwit.k@ku.th <p>งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบที่เพศชายได้รับ จากสังคมชายเป็นใหญ่ ผ่านบทละครโทรทัศน์เรื่อง เลือดข้นคนจาง (2561) โดยวิเคราะห์ตัวละครชาย 4 ตัว ได้แก่ ประเสริฐ เมธ พีท และก๋วยเตี๋ยว ดำเนินการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ ที่วิเคราะห์บทละครตามทฤษฎีชายเป็นใหญ่ และแนวคิดจิตวิเคราะห์ พบว่า ผลกระทบที่เพศชายได้รับจากสังคมชายเป็นใหญ่ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ แบ่งตามความอาวุโส และแบ่งตามเพศสภาพ ซึ่งผลกระทบที่ได้รับโดยแบ่งตามความอาวุโส ปรากฏในด้านของเพศชายที่มีอายุมากกว่า เช่น ตั่วซุง จะมีความอาวุโสมากกว่าพี่น้องเพศชายในรุ่นเดียวกัน รวมถึงการส่งต่อความคาดหวังอันเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู โดยครอบครัวของลูกชายคนโตมักตั้งความคาดหวังในการดำเนินชีวิตมากกว่าครอบครัวของลูกชายคนเล็ก และผลกระทบที่ได้รับโดยแบ่งตามเพศสภาพ มีทั้งผลกระทบที่เพศชายมีต่อเพศชายด้วยกันเอง ผลกระทบที่เพศชายได้รับจากเพศหญิงที่มีความอาวุโสกว่า และผลกระทบที่มาจากความสนใจในครอบครัว ซึ่งผลกระทบทั้งหมดเกิดจากแนวคิดปิตาธิปไตย ในครอบครัวที่กดทับกันมารุ่นสู่รุ่น และการกดทับนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้นหรือในทางกลับกัน ก็กดทับเพื่อให้อีกฝ่ายอยู่ต่ำกว่านั่นเอง</p> 2024-06-13T00:00:00+07:00 Copyright (c) 2024 มังรายสาร วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์