การประยุกต์ภูมิปัญญาการย้อมผ้าไหมด้วยผลมะเกลือ เชิงสร้างสรรค์ จังหวัดศรีสะเกษ

กัลยวรรธน์ สาลีวรรณ ,ดร.พนัส โพธิบัติ

ผู้แต่ง

  • กัลยวรรธน์ สาลีวรรณ
  • พนัส โพธิบัติ

คำสำคัญ:

การประยุกต์, ภูมิปัญญา, การย้อม, สร้างสรรค์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาความเป็นมาของภูมิปัญญาการย้อมผ้าไหมด้วยผลมะเกลือ จังหวัดศรีสะเกษ 2) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาของภูมิปัญญาการย้อมผ้าไหมด้วยผลมะเกลือ จังหวัดศรีสะเกษ และ 3) เพื่อศึกษาการประยุกต์ภูมิปัญญาการย้อมผ้าไหมด้วยผลมะเกลือเชิงสร้างสรรค์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มุ่งเน้นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ดำเนินการวิจัยจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร (Document) เก็บข้อมูลภาคสนาม(Field Study) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ทำการวิจัยในเขตพื้นที่บ้านเมืองน้อยตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ พบว่า สภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย อันได้แก่ ส่วย เยอ ลาว และเขมร วิถีการดำเนินชีวิตที่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นหลัก และมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อนำเส้นไหมมาทอผ้าเป็นเครื่องนุ่งห่ม โดยเดิมทีผ้าไหมที่นำมาใช้ย้อมเป็นสีขาวเหลืองนวลและนำมาย้อมสีด้วยผลมะเกลือให้เป็นสีดำสนิท เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไหมย้อมมะเกลือด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ส่งต่อมาจากปู่ย่าตายายโดยทำกันมาอย่างต่อเนื่องหลังฤดูทำนาเก็บเกี่ยวเพื่อนำความรู้การย้อมผ้าไหมด้วยผลมะเกลือไปถ่ายทอดกันภายในกลุ่มแม่บ้าน ชุมชนลูกหลาน ให้ทำตามเพื่อไม่ให้องค์ความรู้ ในการย้อมผ้าไหมด้วยผลมะเกลือไม่สูญหายไปและปฏิบัติกันอย่างสืบเนื่องทุกเทศกาล ทุกฤดูกาล ทุกประเพณีจนเป็นวีถีชีวิตประจำวันที่แยกออกจากกันไม่ได้สภาพปัจจุบันและปัญหาการย้อมผ้าไหมด้วยผลมะเกลือจังหวัดศรีสะเกษ สอดคล้องแนวคิดที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อภาคการผลิตบริการและการขายเป็นแนวคิดแบบใหม่ ที่มีปัจจัยหลักมาจากความสามารถและทักษะพิเศษของบุคคลมีกระบวนการนำเอาวัฒนธรรม เศรษฐกิจรวมเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม โดยหลักการแล้วเป็นการนำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมมาพัฒนา ผู้วิจัยได้ศึกษาการประยุกต์ผ้าไหมย้อมด้วยผลมะเกลือเชิงสร้างสรรค์ จากแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาผ้าไหมย้อมด้วยผลมะเกลือให้เกิดมูลค่าเพิ่มตามความต้องการของตลาดให้มากขึ้น จากการสอบถามจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไปโดยมีแบบผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากรูปแบบเดิมของผ้าไหมย้อมด้วยผลมะเกลือ จากการประยุกต์ผ้าไหมย้อมด้วยผลมะเกลือเชิงสร้างสรรค์ พบว่า ผ้าที่ผ่านการย้อมด้วยผลมะเกลือวันที่ 1 ได้สีน้ำตาลอ่อน วันที่ 2 ได้สีน้ำตาลเข้ม วันที่ 3 ได้สีน้ำตาลเทาอ่อน วันที่ 4 ได้สีเทาอ่อน วันที่ 5 ได้สีเทาดำเข้ม วันที่ 6 ได้สีดำ และวันที่ 7 ได้สีดำเข้ม สามารถนำไปออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ อันได้แก่ 1) เสื้อรูปแบบสมัยใหม่ 2) กระโปรงทำงานทรงเอ/กระโปรงยาวผู้หญิง 3) กระเป๋าถือผู้หญิง 4) ย่าม 5) ผ้าคลุมไหล่ และ 6) ชุดกระโปรงผู้หญิง จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่นอกเหนือจากรูปแบบเดิมของผ้าไหมย้อมด้วยผลมะเกลือที่มีรูปแบบเดิมคือเสื้อย้อมด้วยผลมะเกลือแบบเดิม แต่จากการประยุกต์ผ้าไหมย้อมด้วยผลมะเกลือเชิงสร้างสรรค์ ที่ผ่านการย้อมจากเดิมคือใช้ระยะเวลาเกือบเดือนเป็นหนึ่งสัปดาห์ เพื่อผลิตให้ทันตามความต้องการของตลาดและสามารถนำมาออกแบบให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่จากเดิม กลุ่มทอผ้าสามารถนำแนวความคิดนี้จากข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปนำไปประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้น่าสนใจและเพิ่มมูลค่าของผ้าไหมย้อมด้วยผลมะเกลือมากยิ่งขึ้น

References

กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์. (2558). สุนทรียศาสตร์ความงามที่ซ่อนอยู่บนผืนผ้าของชาวผู้ไทย. วิจิตรแพรวา มรดกภูมิปัญญาสู่ราชินีแห่งไหม. 1(1), 175-184.

งามพิศ สัตย์สงวน. (2539). มานุษยวิทยากายภาพ: วิวัฒนาการทางกายภาพและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธีรพล พรมโสภา วรรณา กาญจนมยูร และจินตนา จิตต์จำนง. (2550). การผลิตผงสีธรรมชาติเพื่อใช้ในการย้อมเส้นไหมจากพืชในท้องถิ่น. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย มหาสารคาม, 4(26), 367–371.

ประทับใจ สิกขา. (2555). ผ้าทอพื้นเมืองอีสานใต้. อุบลราชธานี: ศิริธรรมออฟเซ็ต.

อมรา จิวาลักษณ์. (2546). ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติกับวิถีชุมชนบ้านพงษ์ ตำบลบริบูรณ์อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น. เลย: สถาบันราชภัฏเลย.

อุทัย สมวัฒน์. (2540). ประเพณี 4 เผ่าไทยศรีสะเกษ ย้อนรอยวัฒนธรรมของบรรพชนอีสาน. ศรีสะเกษ: บ้านเมือง.

เอกวิทย์ ณ ถลาง. (2544). ภูมิปัญญาอีสาน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์.

เผยแพร่แล้ว

2019-01-03

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)