สังคมวิทยาชีวิตประจำวัน: “รอยต่อ-รอยตัด” แนวทัศน์ทางสังคมวิทยาในงานศึกษาสังคมไทยร่วมสมัย
Natcharee Suwannapat
บทคัดย่อ
บทความนี้มุ่งทบทวนพัฒนาการของแนวทัศน์สังคมวิทยาชีวิตประจำวัน และอิทธิพลต่อแวดวงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ทั้งในเชิงแนวความคิด ระเบียบวิธีวิจัย และญาณวิทยา และสืบสอบการประยุกต์ใช้สังคมวิทยาชีวิตประจำวันในงานสังคมศาสตร์ไทย ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา โดยอภิปรายจากงานศึกษา 3 ชิ้นที่เป็นตัวอย่างของงานศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากแนวทัศน์สังคมวิทยาชีวิตประจำวันในแต่ละทศวรรษ และแสดงถึงแนวโน้มความสนใจของงานสังคมวิทยาชีวิตประจำวันที่เคลื่อนตัวจากการศึกษาชีวิตประจำวันของผู้ถูกนิยามจากสังคมว่า “เบี่ยงเบน” (ทศวรรษ 2530) ไปสู่การศึกษาชีวิตประจำวันของผู้คน “สามัญ” (ทศวรรษ 2540) ไปจนถึงการเน้นความสำคัญในประเด็นว่าด้วยอำนาจของผู้คนสามัญในฐานะ “ผู้กระทำการทางสังคม” (ทศวรรษ 2550) และอภิปรายเปรียบเทียบงานทั้งสามใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มคนที่ศึกษา 2) การเข้าถึงความหมาย มุมมอง และประสบการณ์ของผู้คน และ 3) พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับความเป็นผู้กระทำการทางสังคม บทความนี้เสนอว่า การปรากฏขึ้นของแนวทัศน์สังคมวิทยาชีวิตประจำวันสะท้อนถึง “รอยต่อ-รอยตัด” เชิงญาณวิทยาระหว่างสังคมวิทยาชีวิตประจำวันทั้งกับแนวทัศน์สังคมวิทยากระแสหลักเชิงโครงสร้างและกับแนวทัศน์สังคมวิทยาในยุคหลัง