พฤติกรรมการสื่อสารภายในองค์กร การรับรู้การสนับสนุนจากองค์กรต่อพฤติกรรมการปฏิบัติงานของบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Main Article Content
บทคัดย่อ
การสื่อสารในองค์กรมีกระบวนการที่บุคลากรใช้แลกเปลี่ยนข่าวสาร เพื่อให้การทำงานเกิดความสำเร็จในขณะเดียวกันการรับรู้การสนับสนุนจากองค์กรมีผลต่อพฤติกรรมการปฏิบัติงานของบุคลากรด้วยเช่นกัน การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารในองค์กร การรับรู้การสนับสนุนจากองค์กร และพฤติกรรมการปฏิบัติติงานของบุคลากร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา คำนวณขนาดตัวอย่างได้ 1,040 ราย โดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบเอง เก็บข้อมูลโดยใช้ระบบ Online ประกอบไปด้วย ข้อมูลทั่วไป พฤติกรรมการสื่อสารภายในองค์กร การรับรู้การสนับสนุนจากองค์กร และพฤติกรรมการปฏิบัติงาน แบบสอบถามได้รับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ และมีค่า Cronbach alpha 0.87 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณ ค่าเฉลี่ย เบี่ยงเบนมาตรฐาน 95%CI chi square Odds Ratio และ Pearson correlation อัตราตอบกลับคิดเป็นร้อยละ 96.05 ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 87.2) อายุอยู่ในช่วง 20–37 ปี การศึกษาจบปริญญาตรี ส่วนใหญ่สมรสแล้ว มีประสบการณ์ในการทำงาน 11 ปีขึ้นไป ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่งานบริการพยาบาล พบว่า พฤติกรรมการสื่อสารภายในองค์กรอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.50, SD 0.42) การรับรู้การสนับสนุนจากองค์กร อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.35, SD 0.69) พฤติกรรมการปฏิบัติงานอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.08, SD 0.46) นอกจากนี้พบว่า ปัจจัยด้านช่วงอายุของบุคลากร สถานภาพสมรส สถานที่ปฏิบัติงานมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญต่อพฤติกรรมการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังพบว่า พฤติกรรมการสื่อสาร และการรับรู้การสนับสนุนจากองค์กรมีความสัมพันธ์กับคะแนนพฤติกรรมการปฏิบัติงานไปในทางเดียวกัน และมีนัยสำคัญทางสถิติ พฤติกรรมการสื่อสารภายในองค์กรและพฤติกรรมการปฏิบัติงานของบุคลากรคณะแพทยศาสตร์ อยู่ในระดับมาก และการรับรู้การสนับสนุนของคณะแพทยศาสตร์ อยู่ในระดับปานกลาง ควรพัฒนาระบบการสื่อสารภายในองค์กร ส่งเสริมการรับรู้การสนับสนุนจากหน่วยงานโดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ ตามสถานที่ปฏิบัติงานต่างๆ ให้มีความสอดคล้องเหมาะสมต่อไป