การพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มีตัวการันต์ โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มีตัวการันต์ประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มี
ตัวการันต์ประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มีตัวการันต์ประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนหลักเมืองมหาสารคาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 1ปีการศึกษา 2563 จำนวน 42 คน ได้มาโดยการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่
1) แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มีตัวการันต์ประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
2) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มีตัวการันต์ประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 6 แผน 8 ชั่วโมง มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ มีค่าความยากตั้งแต่ 0.32–0.76 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.21–0.67 และมีความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (rcc) เท่ากับ 0.88 และ
4) แบบสอบถามความพึงพอใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มีตัวการันต์ประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 10 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.30-0.55 และค่าความเชื่อมั่น
ทั้งฉบับ (α) เท่ากับ 0.80 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาประสิทธิภาพของเครื่องมือ (E1/E2) และสถิติทดสอบ t-test Dependent Samples
ผลการวิจัยพบว่า
1. แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มีตัวการันต์ประกอบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.71/82.98 เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มีตัวการันต์ประกอบ
การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำที่มีตัวการันต์ประกอบ
การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ STAD สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5อยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.61