แนวความคิดในการออกแบบ และก่อสร้างกุฏิวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

Authors

  • วิเชษฎ์ สุวิสิทฐ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ขวัญชัย โรจนกนันท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • พิบูลย์ จินาวัฒน์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Keywords:

กุฏิพระสงฆ์, พระพุทธศาสนา, ความพอเพียง, Monk’s dwelling unit, Buddhism, Sufficiency

Abstract

         วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2551 ซึ่งในพื้นที่นี้ได้มีประวัติเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับวัดมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2522 เมื่อครั้งที่ท่านพระครูวรเวทย์ วิสิฐ (หลวงปู่ครูบาธมฺมชยฺ ธมฺมชโย) ท่านเจ้าอาวาสวัดทุ่งได้เดินทางมาธุดงค์ปักกลดวิปัสสนาบริเวณที่เป็นบ่อนํ้าทิพย์ และต่อมาได้มีพระมาจำพรรษาอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่งจนได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวัดอย่างเป็นทางการ ต่อมาพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์และคณะผู้มีจิตศรัทธาได้มีความประสงค์ที่จะสร้างกุฏิพระสงฆ์เพื่อถวายให้ท่านเจ้าอาวาสและพระภิกษุที่จำพรรษาที่วัดได้มีอาคารสำหรับพักอาศัยและปฏิบัติกิจของสงฆ์

         การออกแบบกุฏิพระสงฆ์ยึดตามหลักการและคติธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องและมีการประยุกต์ใช้บริบทจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น นอกจากนี้ยังนำเอาลักษณะทางกายภาพของชุมชนโดยรอบวัดเป็นแนวทางในการออกแบบ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนโดยรอบวัดได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของและสามารถใช้วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง อันจะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างวัดและชุมชนให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน เนื่องด้วยที่ตั้งของวัดอยู่ไม่ไกลจากย่านชุมชนและป่าไม้ ซึ่งในประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้นได้มีความสอดคล้องอย่างยิ่งต่อแนวความคิดในทางพระพุทธศาสนาที่เน้นเรียบง่ายและความกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่มุ่งเน้นสิ่งประดับตกแต่งที่เกินความจำเป็น แต่ให้ความสำคัญกับความสงบนิ่งอันจะเอื้อต่อการฝึกสมาธิและดำเนินชีวิตอย่างมีสติ สถาปนิกได้ดำเนินการออกแบบโดยยึดหลักความเรียบง่ายตามแนวทางของพระพุทธศาสนาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้นำรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบไทยลื้อมาประยุกต์ใช้ร่วมกับคติธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้ได้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของกุฏิที่เรียบง่ายสอดคล้องกับที่ตั้งของโครงการร่วมกับบริบทของท้องถิ่นและคติธรรมของศาสนา โครงการประกอบด้วยกลุ่มอาคารสำหรับพระภิกษุได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ ได้แก่ กุฏิเจ้าอาวาสและพระสงฆ์ จำนวน 3 หลัง และศาลาอเนกประสงค์ จำนวน 1 หลัง สำหรับใช้เป็นหอฉันท์ และประกอบศาสนกิจร่วมกับสาธุชนทั่วไปตามเทศกาลหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

         เมื่อสถาปนิกได้รับมอบหมายให้ดำเนินการการออกแบบและวางแผนก่อสร้างกุฏิพระสงฆ์และศาลาอเนกประสงค์วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์นั้น ได้ทำการค้นคว้าข้อมูลในเบื้องต้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบเนื่องจากเป็นอาคารทางพระพุทธศาสนาที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในวัด โดยได้เริ่มจากแนวคิดหรือคติธรรมที่เกี่ยวข้องกับกุฏิพระสงฆ์ตามพระไตรปิฎก จากนั้นได้เลือกแนวทางการออกแบบและวางผังโดยอิงจากพระธรรมวินัยที่เกี่ยวข้องตามที่ปรากฎในพระไตรปิฎกร่วมกับสถาปัตยกรรมแบบไทยลื้อ เพื่อให้ตัวอาคารมีความเรียบง่ายสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งยังก่อสร้างได้ง่ายโดยตัดองค์ประกอบบางประการออกไป แต่ยังคงลักษณะของความเป็นอาคารทางพระพุทธศาสนาได้อย่างลงตัวทั้งทางด้านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและสัดส่วนของอาคารที่ให้ความเคารพต่อบริบทโดยรอบ

 

Design and Construction Concept of monks’ dwelling units of Wat Tharathip, Mae Tang Distric, Chiang Mai Province

Vichead Suvisit
Kwanchai Roachanakanan
Pibul Jinawath
Faculty of Architecture, Silpakorn University

 

         Tharathip temple was given permission to become a temple in 2008. According to local people, this temple has been in existence since 1979. At that time, a monk came to perform Buddhist practices with an intention to set up a temple for the community in this area which is known for the location of a sacred fountain. Years later, Her Royal Highness Princess Siribhachudhabhorn wished to build dwellings for the monks residing at the temple and so.

         The design of the monks’ dwelling units and a multipurpose hall, based on the Dhamma philosophy of existence. The principle of the philosophy focuses on “sufficiency”, which was used as the design concept for the project. The characters of the buildings were designed to correspond with the local architectural style and Dhamma teachings, while the shapes and size of the buildings are moderately adequate for use and simple to construct. There are no decorations, and only basic accessories are provided.

         As a result, the monks’ dwelling units and the multipurpose hall can facilitate use for both monks and local Buddhists in the area. In addition, the temple also represents a spiritual center for the people and the benefactors.

Downloads

Published

2018-01-25

How to Cite

สุวิสิทฐ์ ว., โรจนกนันท์ ข., & จินาวัฒน์ พ. (2018). แนวความคิดในการออกแบบ และก่อสร้างกุฏิวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่. NAJUA: Architecture, Design and Built Environment, 32, F–73. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA-Arch/article/view/101993

Issue

Section

เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรม | Architectural Technology and Innovation