เรือนพื้นถิ่นในระบบนิเวศน์สามนํ้าลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา ในเขตจังหวัดพัทลุง และนครศรีธรรมราช

Authors

  • อมฤต หมวดทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

Keywords:

นิเวศวัฒนธรรม, สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น, ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา, พัทลุง, นครศรีธรรมราช, Cultural Ecology, Vernacular Architecture, Songkla Lake Basin, Pattalung, Nakorn Si Thamraj

Abstract

        งานวิจัยเรื่อง “เรือนพื้นถิ่นในระบบนิเวศสามน้ำลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในเขตจังหวัดพัทลุง และนครศรีธรรมราช” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิทัศน์วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์พื้นที่ศึกษาที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์กันกับสภาพแวดล้อม โดยมีมีพื้นที่ศึกษาในชุมชนละแวกทะเลสาบสงขลาตอนบน โดยได้กำหนดพื้นที่ศึกษาในชุมชนที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน ทว่าได้มีการขยับขยายไปตั้งรกรากยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อทำมาหากิน แม้ว่าบางพื้นที่นั้นจะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน อันเป็นคำถามหลักของการวิจัยที่มุ่งศึกษาในเรื่องการปรับตนเองและสภาพแวดล้อมผ่านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเพื่อการดำรงชีพ

        ผลการศึกษาพบว่า สภาพพื้นที่ของทะเลน้อยมีระบบนิเวศที่หลากหลาย ได้แก่ ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ป่าดิบชื้น ควน (ที่ดอน) และบริเวณพื้นที่นํ้า โดยโยงใยกับคูคลองต่างๆ ไปยังทะเลใน (ทะเลสาบสงขลา) จนออกไปถึงทะเลนอก (อ่าวไทย) และมีความเป็นระบบนิเวศวิทยาแบบที่มีนํ้า 3 ประเภทที่ สัมพันธ์กับช่วงฤดูกาล หรือที่เรียกกันว่า “นิเวศ 3 นํ้า” ได้แก่ “นํ้าจืด” “นํ้ากร่อย” และ “นํ้าเค็ม” ที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งส่งผลต่อปัจจัยหลักในการดำรงชีพของผู้คนในอดีต ทั้งการทำนา การประมง (อาชีพดั้งเดิม) ทอเสื่อกระจูดในบางพื้นที่ และการทำสวนยางพาราซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง โดยผสานกับความเชื่อทางสังคมและศาสนา วิถีดังกล่าวส่งผลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตามลักษณะของระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ “ควน” “ที่ราบ” และ “ที่ริมทะเลน้อย” โดยเรือนส่วนใหญ่ จะวางผังที่ให้ความสัมพันธ์กับแกนในแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเรียกในภาษาถิ่นว่า “ลอยหวัน” มีเรือนข้าว (ที่เก็บข้าว) ที่มักจะอยู่ทางทิศตะวันออกของเรือน มีศาลาพักผ่อนหน้าเรือน เป็นพื้นที่ ปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มเรือนเครือญาติในเวลากลางวัน มีการวางผังบริเวณ โดยมี “ดมภ์” และ “สวน สมรม” เป็นแนวและสวนอยู่รอบเรือนโดยอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มเรือนเครือญาติ ใช้ประโยชน์จากยกใต้ถุนเรือนสัมพันธ์กับการใช้งาน และระบบนิเวศ มีการใช้วัสดุก่อสร้างเรือนจากทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่น อันได้แก่ ไม้เนื้อแข็งต่างๆ และกระเบื้องดินเผา ซึ่งสามารถจัดหาได้ภายในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอันอุดมสมบูรณ์

        สำหรับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเรือนที่อยู่อาศัย พบองค์ความรู้ดังนี้ คือ พื้นเรือนมีการออกแบบให้มีระดับของพื้นเรือนที่แตกต่างกันซึ่งสัมพันธ์กับลักษณะการใช้สอยพื้นที่และวิถีวัฒนธรรม ของคนในท้องถิ่นภาคใต้ที่ให้ความสำคัญกับอาวุโส ตลอดจนทำให้เกิดการระบายอากาศโดยลม ธรรมชาติ สำหรับเรือนนอน กำหนดให้หันหัวไปทางทิศใต้ จึงเรียกทิศดังกล่าวในภาษาถิ่นใต้ว่า “ทิศหัวนอน”

        ผลการศึกษา และกระบวนการศึกษานอกจากจะได้ผลลัพธ์เป็นองค์ความรู้ ความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ระบบนิเวศอันส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการตั้งถิ่นฐาน ยังทำให้มองเห็นถึงคุณค่าของภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นผ่านกระบวนการสืบค้นเพื่อหาความ สัมพันธ์ของพื้นที่ทางภูมิทัศน์สถาปัตยกรรม และพื้นที่ทางสังคมผ่านเครือญาติของผู้วิจัย และยังสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ไปยังชุมชนอื่นๆ ได้แก่ สงขลา และนครศรีธรรมราชผ่านเส้นทางสัญจรในอดีต อันได้แก่ ลำคลองต่างๆ และทะเลสาบ นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงศักยภาพที่จะนำไปขยายผลสู่การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม และเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิความรู้ให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยเป็นเครือข่ายชุมชนชาวลุ่มนํ้าทะเลสาบขยายผลสู่การมีจิตสำนึกร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

 

Vernacular Architecture in Ecological Contexts of the Songkhla Lake Basin, Pattalung and Nakhon Si Thammaraj Province

Amarit Muadthong, Lecturer

Faculty of Architecture, Urban Design and Creative Arts

Mahasarakham University

        “Vernacular Architecture in Ecological Contexts of the Songkhla Lake Basin, Pattalung and Nakhon Si Thammaraj Province” aims to study the cultural landscapes and vernacular architecture which portray relationship with the surroundings covering the northern area of Songkhla Lake. The focus is on the community whose members have close relationship as relatives, then spread or moved somewhere else to earn for their living. The findings concern how they adapt their ways of life and dwelling so as to go compatibly with their surroundings which are the main factor for their life.

        It was found from the study that the ecology of Talay Noi, a part of Songkhla Lake, consists of various types of forests and plants like swamp forests, grasslands, tropical rain forests, hills, and swamps. The ecology relates to types of water: fresh, brackish, and salt water, which have close relationship with lives of human beings, plants and animals. The locals are mostly fishermen and farmers. Later people work with rubber plantation and prepare mat from “krajood”, local weed. Ecology, along with beliefs and religions, also affect vernacular architecture. That is, building orientation is on east-west direction. The rice barn is on the east side, with pavilion for rest and assembly at the front. The floor is divided into levels so as to be suitable for ventilation and purposes, as well we belief in seniority. South side is for sleeping. Gardens of local plants are surrounded the house as fences, so they are ingredients for cooking as well. The lower part of the house is also beneficial as it can be used for types of activities. Hard wood and baked-clay tiles are important construction materials for housing.

        This study leads to understanding in relationship with geographical and ecological aspects which play important roles in ways of life and housing. In addition, the value of landscapes, vernacular architecture, and close relationship of families are realized. Waterways are not only circulation routes, but they are also the cause of relationship and occupations. In addition, they can lead to ecological tourism which is helpful in raising awareness of the locals and visitors, as well as income. Importantly, realization in conservation will be more considered by stakeholders.

Downloads

How to Cite

หมวดทอง อ. (2016). เรือนพื้นถิ่นในระบบนิเวศน์สามนํ้าลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา ในเขตจังหวัดพัทลุง และนครศรีธรรมราช. NAJUA: Architecture, Design and Built Environment, 28, 181. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA-Arch/article/view/44344

Issue

Section

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม | Vernacular Architecture and Cultural Environment