ภูมิปัญญาการปรับตัวในบ้าน-เรือนลาวเวียง บริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง
Keywords:
ลาวเวียง, ภูมิปัญญา, การปรับตัว, บ้านและชุมชนพื้นถิ่น, ลุ่มนํ้าภาคกลางAbstract
ในการโยกย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัย การสร้างบ้านเรือนในที่ตั้งใหม่มักมีการนำเอาแบบแผนทางสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมเดิมมาใช้ ทั้งนี้หากสามารถกระทำได้ ชาวลาวเวียงเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่มีการย้ายถิ่นฐานจากเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาอยู่อาศัยในประเทศไทย มาเป็นเวลามามากกว่า 200 ปี ดังนั้นชาวลาวเวียงที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมีการปรับตัวโดยการนำแบบแผนบ้านเรือนที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมของตนให้ปรากฏในบริบทอยู่อาศัยใหม่ได้มากน้อยเพียงไร โดยเมื่อเทียบกับบริบทดั้งเดิมใน สปป.ลาว และโดยเฉพาะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสภาพแวดล้อมอย่างมาก การสืบสานความสำคัญทางวัฒนธรรมในบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนนี้จะเป็นอย่างไร
บทความนี้มุ่งเน้นนำเสนอภูมิปัญญาในการปรับตัวที่ปรากฏในบ้านและเรือนของชาวลาวเวียง โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณลุ่มน้ำภาคกลางของประเทศไทย โดยมีพื้นที่กรณีศึกษาหลักในชุมชนลาวเวียงใน ต.บ้านเลือก จ.ราชบุรี และมีการศึกษาในช่วงปี พ.ศ.2553-2555 ข้อมูลของบทความมาจากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาภาคสนามโดยวิธีการสังเกต การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่ม
จากการศึกษาพบว่า แม้ว่าบ้านเรือนของชาวลาวเวียงในช่วงแรกของการตั้งถิ่นฐานสะท้อนให้การรับอิทธิพลวัฒนธรรมไทยภาคกลาง แต่ยังคงแบบแผนของบ้านเรือนบางส่วน รวมถึงวิถีชีวิตและความเชื่อจากเวียงจันทน์ และแม้ว่าบ้านเรือนในช่วงหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก็ยังคงมีการสืบสานแบบแผนโดยเฉพาะผังเรือนที่ปรับมาจากเรือนดั้งเดิมของชุมชน นอกจากนี้ยังพบภูมิปัญญาจากการปฏิบัติของชาวลาวเวียงในการปรับตนตามเงื่อนไขของสังคมและสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป การปรับตัวของชาวลาวเวียงในตำบลบ้านเลือกแสดงให้เห็นการธำรงความสำคัญทางวัฒนธรรมของตนให้ดำรงอยู่ อันน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งของการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับบางชุมชนได้อีกด้วย