นครจำปาศรี นครโบราณแห่งมหาสารคาม

Authors

  • วิโรจน์ ชีวาสุขถาวร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

Keywords:

นครจำปาศรี, นาดูน, ทวารวดี, ประวัติศาสตร์

Abstract

        “เมืองโบราณนครจำปาศรี” มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน กว้างประมาณ 1,500 เมตร ยาวประมาณ 2,700 เมตร ประกอบด้วยเชิงเทิน หรือคันดิน 2 ชั้น มีคูนํ้าขั้นกลาง กว้างประมาณ 20 เมตร เนินดินสูงประมาณ 3 เมตร และกว้างประมาณ 6 เมตร เมืองโบราณแห่งนี้มีการพัฒนาการของเมืองที่สืบต่อมาหลายสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-16 นครจำปาศรี เริ่มมีการพัฒนาการของเมืองที่ชัดเจนขึ้นโดยมีการขุดคูเมือง-กำแพงเมืองล้อมรอบ เพื่อไว้ใช้เป็นพื้นที่เก็บนํ้าภายในเมืองเพื่อการเกษตรกรรม และมีการรับศาสนาพุทธจากพื้นที่ลุ่มนํ้าภาคกลางเข้ามาจึงมีการสร้างศาสนสถานขึ้นภายในเมืองหลายแห่ง เช่น ศาลานางขาว รวมถึงการสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนอกเมือง การพัฒนาของเมืองมีสืบเนื่องมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16–18 จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและการขุดตรวจชั้นดินทางโบราณคดีพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของเมือง โดยมีการขุดขยายแนวคูเมืองออกไปทั้งสองด้านทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขอบมน ซึ่งเป็นลักษณะการสร้างเมืองในวัฒนธรรมแบบขอมซ้อนทับลงไปในเมืองโบราณสมัยทวารวดีอีกชั้นหนึ่ง แต่ยังคงรูปแบบการวางผังเมืองเดิมไว้โดยไม่ได้แก้ไข รวมถึงมีการสร้างศาสนสถานกู่น้อยขึ้นเพื่อเป็นเทวลัย และสร้างบารายทางด้านทิศตะวันออกไว้เพื่อการเก็บกักนํ้าไว้ใช้ภายในชุมชน ด้านทิศตะวันออกของเมือง พบร่องรอยของสระนํ้าที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หนองอีไล” วางตัวทอดยาวขนานไปกับแนวตัวเมือง เพื่อกักเก็บนํ้าเพื่อใช้ในการเกษตรกรรมที่รองรับการขยายตัวของชุมชนเช่นกัน ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรขอม พระองค์ทรงให้สร้างอโรคยาศาล จำนวน 102 แห่ง ทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ ซึ่งพบอยู่ในนครจำปาศรีหนึ่งแห่ง คือ “กูสั่นตรัตน์” การสร้างอโรคยาศาลสร้างขึ้นในพื้นที่ชุมชนที่ผู้คนอาศัยเป็นจำนวนมาก และเป็นเมืองที่สำคัญ วัฒนธรรมขอมที่แพร่เข้ามานั้นก็มิได้ทำลายวัฒนธรรมทวารวดีที่เจริญอยู่ก่อนหน้านี้ให้หมดไป แต่มีการผสมผสานและนับถือควบคู่กันมา ดังปรากฏหลักฐานการจารึกที่หลังพระพิมพ์นาดูน บางแผ่นมีจารึกที่ใช้ภาษามอญ และภาษาขอม หลังพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา เป็นระยะสุดท้ายที่อำนาจทางการเมืองของขอมได้เสื่อมลงและส่งผลให้บ้านเมืองที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแต่ก่อนค่อยๆ เสื่อมลงทำให้จำนวนประชากรน้อยลง จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในที่สุด

Downloads

How to Cite

ชีวาสุขถาวร ว. (2016). นครจำปาศรี นครโบราณแห่งมหาสารคาม. NAJUA: Architecture, Design and Built Environment, 26, 273. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NAJUA-Arch/article/view/48663

Issue

Section

การบริหารจัดการ และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม | Architectural Heritage Management and Conservation