ฺBook Review

Authors

  • เทอดศักดิ์ ไป่จันทึก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

Keywords:

ประชาธิปไตยและกระแสอนุรักษ์นิยมในเอเชียตะวันออก, ์Book review

Abstract

            หนังสือเล่มนี้มีข้อเสนอสำคัญในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงในเอเชียตะวันออกและอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยม ซึ่งประเด็นหลังเป็นสิ่งท้าทายประเด็นแรกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากกระแสการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมในยุโรป อย่างไรก็ดี การศึกษาความสัมพันธ์ในประเด็นข้างต้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยังมีงานไม่มากนัก จึงเป็นไปได้ว่าการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมในเอเชียตะวันออกอาจแตกต่างออกไปจากยุโรปก็ได้ จึงเป็นปฐมเหตุของการศึกษาในหนังสือเล่มนี้ โดยภาพรวม หนังสือเล่มนี้ แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก บทนำ ส่วนที่สอง แนวคิดและทฤษฎี ส่วนสุดท้าย กรณีศึกษา ในส่วนแรก เป็นการเกริ่นนำถึงที่มาของการศึกษาในลักษณะของการแสวงคำตอบถึงความสัมพันธ์ระหว่างกระแสการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมในเอเชียตะวันออกกับประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงโดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยมีสมมติฐานสำคัญคือ กระแสการเมืองดังกล่าวนั้นอาจส่งผลถึงความมั่นคงหรือที่ผู้เขียนใช้คำว่า “ทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมความเข้มแข็ง” ในส่วนนี้มีประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ การกล่าวถึงความหลากหลายในนิยามของคำว่า “อนุรักษ์นิยม” หรือ “ฝ่ายขวา” ซึ่งในยุโรปจำแนกได้สองกลุ่มความหมาย คือ กลุ่มความหมายแรก เป็นหมายถึงฝ่ายขวาที่มีอุดมการณ์จากรากฐานของพรรคการเมือง (แนวอนุรักษ์นิยม) ส่วนกลุ่มความหมายที่สองหมายถึงฝ่ายขวาที่มีคำคุณศัพท์มาขยาย (เช่น ขวาหัวรุนแรง, ขวาตกขอบ, ประชานิยมปีกขวา) หมายถึง กลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบสุดโต่ง ทว่าในที่อื่นๆ อาจไม่ได้มีลักษณะอย่างเช่นในยุโรปก็ได้ ด้วยเหตุดังกล่าวการนำแนวคิดอนุรักษ์นิยมมาปรับใช้ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในประเด็นนี้เป็นสำคัญ ประเด็นต่อมาในบทนำ คือ การให้นิยามของอนุรักษ์นิยม ประกอบไปด้วยนิยามของซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ นิยามแบบอภิชนาธิปไตย นิยามแบบอิสระ และนิยามที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือบริบททางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ อนุรักษ์นิยม ยังนิยามได้ในลักษณะเชิงสัมพันธ์ คือการมุ่งที่การรักษาสถานภาพเดิมทางเศรษฐกิจการเมือง ขณะที่ฝ่ายก้าวหน้ามุ่งที่การสร้างความเปลี่ยนแปลง อีกแนวทางหนึ่งคือ นิยามเชิงสัมบูรณ์ ที่เชื่อมโยงอนุรักษ์นิยมเข้ากับแนวคิดบางประการ เช่น อำนาจนิยม ชาตินิยม ประเพณีนิยม เป็นต้น ในประเด็นท้าย ผู้เขียนกล่าวถึงวิธีการศึกษากระแสอนุรักษ์นิยมและประชาธิปไตยในสองลักษณะ คือ สาเหตุการเกิดขึ้นของกระแสอนุรักษ์นิยม และผลกระทบของกระแสดังกล่าวที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและประชาธิปไตย

Downloads

Published

2018-12-17

How to Cite

ไป่จันทึก เ. (2018). ฺBook Review. Local Administration Journal, 11(4), 178–183. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/colakkujournals/article/view/163331