บทบรรณาธิการ
Abstract
บทบรรณาธิการ
วารสารการบริหารท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความยินดีที่จะแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า วารสารได้รับการประเมินจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยหรือทีซีไอ เพื่อเลื่อนขึ้นไปอยู่ ในกลุ่มที่ 1 อันมีผลย้อนหลังตั้งแต่วารสารการบริหารท้องถิ่นฉบับปีที่ 8 เล่มที่ 3 เป็นต้นมา ทางกองบรรณาธิการต้องขอกราบขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เขียน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการร่วมกันผลักดันและพัฒนาวารสารการบริหารท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ทางกองบรรณาธิการยังคงมีความมุ่งหวังที่จะเพิ่มระดับมาตรฐานและคุณภาพของวารสารให้ดียิ่งขึ้นไป
วารสารการบริหารท้องถิ่นฉบับนี้เป็นฉบับปีที่ 9 เล่มที่ 4 เป็นเล่มสุดท้ายของปี 2559 และในปี 2560 วารสารการบริหารท้องถิ่นจะดำรงอยู่ควบคู่กับวงวิชาการไทยครบรอบหนึ่งทศวรรษ ซึ่งถือว่าเป็นเวลาครบรอบหนึ่งทศวรรษของการก่อตั้งวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เช่นกัน
แน่นอนว่า วารสารการบริหารท้องถิ่นฉบับนี้ยังประกอบด้วยบทความจากอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน และทุกบทความผ่านการประเมินอย่างเข้มข้นจากผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ วารสารเล่มนี้ประกอบด้วย 8 บทความ ได้แก่ บทความที่หนึ่งชื่อเรื่องคือ “ความขัดแย้งและความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นไทย: ศึกษากรณีเทศบาลตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย” โดย อาจารย์ ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย บทความดังกล่าวได้สะท้อนรูปแบบความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรง ตลอดจน การปรับตัวภายใต้เงื่อนไขความขัดแย้งของเทศบาลตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย บทความที่สองเป็นบทความของอาจารย์สุดารัตน์ รัตนพงษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ชื่อเรื่อง “ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการจัดการความขัดแย้ง” บทความนี้ได้ทบทวนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์จากการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวอย่างกล่าวขว้างจากภูมิปัญญาที่ปรากฏตามศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ และผู้เขียนได้กล่าวเฉพาะเจาะจงในกรณีของสังคมไทยด้วยเช่นกัน บทความที่สาม เป็นบทความของอาจารย์สุวัฒ ดวงแสนพุด อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ชื่อเรื่อง “บทบาทและวิธีการจัดการความขัดแย้งของกำนันผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดอุดรธานี” ซึ่งเป็นการศึกษาการแก้ไขความขัดแย้งในระดับต้นทาง โดยอาศัยกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นกลไกสำคัญเบื้องต้น ทั้งสามบทความแรกจึงอยู่ภายใต้หัวเรื่องความรุนแรง ความขัดแย้งและสันติวิธีเป็นหลัก
บทความที่สี่ชื่อเรื่อง “กระบวนการนโยบายสาธารณะตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550”ของอาจารย์จตุรงค์ ศรีสุธรรม อาจารย์ประจำสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี บทความนี้วิเคราะห์ถึงกลไกและเครื่องมือในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพผ่านกรณีตัวอย่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งพบว่ามีหลากหลายตัวแสดงหลักเข้ามาเกี่ยวข้อง บทความที่ห้าของคุณรัตน์ษา ชัยนัด และพลเอก ดร.ศุภลักษณ์ สุวรรณะชฎ จากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชื่อเรื่อง “สภาพปัญหาและความต้องการการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสตามโครงการคนขอนแก่นไม่ทอดทิ้งกัน เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น” เป็นการศึกษาปัญหาและความต้องการของผู้ด้อยโอกาสจำนวน 60 คน ผู้ด้อยโอกาสดังกล่าวอยู่ในโครงการคนขอนแก่นไม่ทิ้งกัน หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับนโยบายได้มีโอกาสอ่านบทความนี้ จะเป็นเรื่องที่ดีเพื่อหาหนทางทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของพวกเขาให้ถ่องแท้และตรงจุดขึ้น บทความที่หกชื่อเรื่อง “การปรับตัวของชุมชนเศรษฐกิจเขียว-น้ำเงิน ท่ามกลางกระแสโลกร้อน: กรณีศึกษา ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด” โดย ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นการศึกษาถึงการปรับตัวของชาวบ้านชายฝั่งทะเลภายใต้สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลง ของสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความเป็นกรดของน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ฯลฯ
บทความที่เจ็ดเป็นบทความของว่าที่ ร.ต.ต. ศิริชัย จันพุ่มและคณะ จากสาขาวิชาการบริหารสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชื่อเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างการมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น” ซึ่งผู้เขียนพบว่าการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อยู่ในระดับสูง อันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก และบทความสุดท้ายชื่อเรื่อง “กระบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น” โดย ส.ต.ต. อรรถพล กุลชาติ และ รศ.ดร. ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น บทความนี้สะท้อนให้เห็นว่าในอำเภอภูเวียง ซึ่งเป็นอำเภอที่รายล้อมไปด้วยภูเขา มีการตัดไม้ทำลายป่าในอัตราที่สูงเป็นอย่างยิ่ง จึงได้หาแนวทางในการป้องกันผ่านข้อเสนอของบทความดังกล่าว
อนึ่ง เกือบสองปีที่ผ่านมาของวารสารการบริหารท้องถิ่น ทางกองบรรณาธิการได้เชิญชวนให้ผู้สนใจเขียนแนะนำหนังสือหรือบทปริทัศน์หนังสือเข้ามา เพื่อเป็นแหล่งชุมชนในการแลกเปลี่ยนหนังสือดีซึ่งกันและกัน ฉบับนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยแนะนำหนังสือของ Jodi Sandfort and Stephanie Moulton เรื่อง Effective Implementation in Practice: Integrating Public Policy and Management. (San Francisco, CA: Jossey-Bass) ปี 2015 ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือที่ใหม่ หนังสือเล่มนี้ มุ่งอธิบายถึง การนำแนวคิดเชิงนโยบายไปแปลง สู่การปฏิบัติในนโยบายจริงให้มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบายในระดับปฏิบัติในทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้าใจถึงการใช้วิธีการที่เป็นระบบ เพื่อจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ตลอดจน หนังสือเล่มนี้ยังกระตุ้น ให้ผู้ดำเนินนโยบายในระดับปฏิบัติได้สร้างกลไกการแก้ปัญหาโดยเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่ซับซ้อนในโลกแห่งความเป็นจริง
ในนามของกองบรรณาธิการ วารสารการบริหารท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจทุกท่านสามารถส่งบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความปริทัศน์ รวมถึง บทแนะนำหนังสือเข้ามาเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสาร โดยสามารถส่งได้ผ่านช่องทางเดียวคือส่งผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ของวารสารการบริหารท้องถิ่น คือ http://www.colakkujournals.com/ journals/index.php/COLALJ ทั้งนี้ ทางกองบรรณาธิการจำเป็นต้องแจ้งให้ทราบถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอ้างอิงให้เป็นมาตรฐานสากลในฉบับถัดไป โดยสามารถดูตัวอย่างได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าวและท้ายเล่มของวารสารฉบับนี้
ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขกับบทความที่เต็มไปด้วยสาระความรู้ในวารสารฉบับนี้ แล้วพบกันใหม่ ในวารสารปีที่ 10 ฉบับที่ 1 ในเดือนมีนาคมศกหน้า
ขอแสดงความนับถือ
ผศ.ดร. ศิวัช ศรีโภคางกุล
บรรณาธิการ
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
The copyright of all articles published in the Local Administration Journalis owned by the College of Local Administration, Khon Kaen University.