มนต์พิธี สำหรับพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

Authors

  • เสพบัณฑิต โหน่งบัณฑิต (Sepbandit Hnongbundit)

Abstract

เมื่อพระภิกษุ สามเณร อุบาสกอุบาสิกา ทำกิจกรรมที่เนื่องด้วยพุทธศาสนพิธีกรรม ท่านเหล่านั้นต้องคำนึงถึงหนังสือคู่มือ กล่าวคือ หนังสือที่รวบรวมหลักศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนาไว้ทั้งหมด ที่ควรมีประจำวัด คือ “หนังสือมนต์พิธี สำหรับพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป” ผู้สรรหาบทสวดมนต์ รวมถึงผู้กำลังก้าวเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เช่น นาคพระและนาคสามเณร ตลอดจนผู้ต้องการทราบลำดับการพิธีกรรมต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา ให้ความสนใจหนังสือเล่มนี้ก่อนเล่มอื่น จึงทำให้หนังสือได้รับความนิยมในกลุ่มดังกล่าว หนังสือ “มนต์พิธี สำหรับพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป” คือหนังสือเล่มขนาด ๑๖ หน้ายก จำนวน ๓๕๒ หน้า หนาพอเหมาะแก่การพกพา ปกไม่แข็งและไม่อ่อนจนเกินไปสีเหลืองเนื้อฟักทอง

ในการวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) เพื่อให้ทราบประเด็นที่น่าสนใจของหนังสือ 2) เพื่อให้ทราบประเด็นที่ควรพึงระวังของหนังสือ 3) เพื่อให้ทราบประเด็นที่ควรเติมให้เต็มของหนังสือ และ 4) เพื่อให้ทราบคุณค่าของหนังสือ ผู้วิจารณ์ทำการวิจารณ์ด้วยปรารถนาเพื่อให้มีผลต่อการพัฒนาหนังสือไปสู่สิ่งที่ดีเลิศต่อไป

หนังสือมนต์พิธีนี้ถูกรวบรวมขึ้นด้วยปณิธานของผู้รวบรวม เพราะเห็นว่าสมณะชีพราหมณ์เหนื่อยยากลำบากต่อการค้นหาตำราหลักของบทสวดมนต์ เพราะบทสวดมนต์ต่างๆ นั้นมาจากหลายตำรา ครั้นจะพกพาหลายเล่มคงไม่เป็นผลดี จึงต้องการรวบรวมไว้เพื่องานสวดสาธยายมนต์และเป็นหลักการแห่งพิธีกรรมต่างๆ ของพระพุทธศาสนา ซึ่งในวิมุตติสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงการสาธยายมนต์ คือเหตุอย่างหนึ่งในวิมุตติ 5 ประการ (เหตุแห่งการหลุดพ้น 5 ประการ คือ การฟังธรรม การเทศน์ การสวดมนต์สาธยาย และการคิดอย่างแยบคาย) ดังมีว่า

“...ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติกายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ 3 ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ...”[1]

ด้วยเหตุนี้หนังสือมนต์พิธีจึงเป็นคัมภีร์ที่บรรจุมนต์เพื่อสาธยายให้จิตมีสมาธิตั้งมั่น แน่วแน่ไม่ฟุ้งซ่าน อนึ่ง หนังสือมนต์พิธียังหมายถึงป้ายบอกทางไปสู่ความหลุดพ้นจากอาสวะได้อีกด้วย

Downloads

Published

2017-09-19

How to Cite

(Sepbandit Hnongbundit) เ. โ. (2017). มนต์พิธี สำหรับพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป. KKU Research Journal (Graduate Studies) Humanities and Social Sciences, 4(2), 1–5. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/gskkuhs/article/view/99521

Issue

Section

บทความวิจัย (Articles)