บทบรรณาธิการ

Main Article Content

จันทิมา อังคพณิชกิจ

Abstract

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 31 แล้ว สำหรับวารสารภาษาและภาษาศาสตร์ ในวารสารฉบับนี้จึงมีการปรับปรุงรูปแบบภายในของวารสารให้เข้ากับเกณฑ์มาตรฐานสากลมากขึ้น เพื่อสอดรับกับกระแสประชาคมอาเซียน และเพื่อเปิดพรมแดนของการศึกษาภาษาและภาษาศาสตร์ให้กว้างขวางไปสู่ด้านสังคมและวัฒนธรรมให้ชัดขึ้นอีกด้วย

การสานต่อภาระงานในการเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยด้านภาษาและภาษาศาสตร์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น นับเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งที่ทางคณะผู้ทำงานวารสารฉบับปัจจุบันยินดีที่จะทำเป็นอย่างยิ่ง เป้าหมายและขอบเขตจึงได้กำหนดให้เด่นชัดที่จะเปิดรับบทความทั้งเชิงพรรณนาและเชิงวิพากษ์ เน้นประเด็นใหม่ๆ ทางภาษา สังคม และวัฒนธรรมทั้งบริบทสังคมไทยและสังคมโลก แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งแก่นของภาษาศาสตร์เชิงทฤษฎีทั้งด้านระบบเสียง ระบบคำ ระบบไวยากรณ์ สัมพันธสาร และด้านประยุกต์กับการเรียนการสอน

บทความของนันทนา รณเกียรติทั้งสองบทความแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ภาษาศาสตร์เชิงทฤษฎีด้านสัทศาสตร์ให้เข้ากับการศึกษาด้านสังคมวัฒนธรรมจากการศึกษาชื่อของบุคคล บทความเรื่อง “ทัศนคติการตั้งชื่อเล่นสองพยางค์ของคนไทย” สะท้อนให้เข้าใจถึงทัศนคติของคนไทยยุคปัจจุบันที่มีต่อการตั้งชื่อเล่น ส่วนบทความเรื่อง “การแสดงเพศภาวะด้วยเสียงในชื่อของคนไทย” ก็เป็นการนำเสนอประเด็นการศึกษาด้านสัทศาสตร์เชิงสังคม (sociophonetics) ได้อย่างน่าสนใจ บทความของถิรวัฒน์ ตันทนิส เรื่อง “การศึกษาปัญหาการออกเสียงภาษาอังกฤษ และกลวิธีการเรียนการออกเสียงภาษาอังกฤษ ของนักศึกษาสหวิทยาการ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ก็ได้ประยุกต์ความรู้เชิงสัทศาสตร์และสัทวิทยากับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาด้านการออกเสียงภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทย นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนภาษา วารสารฉบับนี้ยังได้มีบทความปริทัศน์หนังสือเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาที่สองจากศักดิ์สิทธ์ แสงบุญ ซึ่งทำให้มุมมองเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ประยุกต์รอบด้านมากขึ้น

ในด้านความคิดเชิงสังคมจากมิติของภาษา มีบทความเรื่อง “กลวิธีการโน้มน้าวใจในการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ. 2554 ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ของสุภาพ กิ่งรัมย์และศิริพร ปัญญาเมธีกุล และบทความเรื่อง “ผู้หญิงกับอุปลักษณ์สัตว์: มุมมองจากแนวคิดการวิเคราะห์วาทกรรมตามวิถีการปฏิสัมพันธ์” ของกานดาภร เจริญกิตบวร ได้ทำให้เห็นมุมมองด้านภาษากับการเมือง ภาษากับเพศ และมโนทัศน์ทางสังคมที่มีต่อเพศหญิงและชายที่แตกต่างกัน

กองบรรณาธิการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวารสารภาษาและภาษาศาสตร์ฉบับนี้จะให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่านอย่างเต็มที่ และขอเชิญชวนให้ท่านติดตามวารสารฯ ของเราฉบับต่อไปที่จะออกเผยแพร่เร็วๆ นี้เช่นกัน

Article Details

How to Cite
อังคพณิชกิจ จ. (2013). บทบรรณาธิการ. Language and Linguistics, 31(1), i. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/joling/article/view/10752
Section
Editor Note