บทบรรณาธิการ
Main Article Content
Abstract
วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ฉบับนี้มาพร้อมกับข่าวน่ายินดีที่วารสารฯ ได้ผ่านการรับรองคุณภาพของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index หรือ TCI) (จนถึง 31 ธันวาคม 2557) สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ได้พยายามรักษาคุณภาพให้อยู่ในระดับมาตรฐานเพื่อเป็นแหล่งที่จะช่วยเผยแพร่ผลงานและพัฒนางานวิชาการด้านภาษาและภาษาศาสตร์ให้แก่วงวิชาการของไทย เรามุ่งหวังที่จะพัฒนาวารสารให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและให้อยู่ในฐานข้อมูลระดับสากลต่อไป
บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ ส่วนใหญ่เป็นบทความวิจัยที่แสดงมุมมองที่หลากหลายของผู้เขียนจากต่างสถาบันการศึกษา บทความของอัญชลี สิงห์น้อย วงศ์วัฒนา แสดงให้เห็นแนวทางใหม่ในการวิเคราะห์ไวยากรณ์ไทยเกี่ยวกับหน่วยสร้างกรรมวาจกโดยใช้แนวไวยากรณ์หน้าที่นิยมแบบลักษณ์ภาษา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจด้านวากยสัมพันธ์และไวยากรณ์ภาษา มีบทความที่เกี่ยวกับวาทกรรมวิเคราะห์สองบทความ ได้แก่ บทความของศิริพร ปัญญาเมธีกุลที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์วาทกรรมในแง่มุมด้านอุดมการณ์ (ideology) โดยใช้ประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในสื่อมวลชนไทย และบทความของวิมลวรรณ อังสุวรรณ (Wimonwan Aungsuwan) ที่เน้นแง่มุมด้านการแปลโดยใช้กรณีศึกษาจากบทประพันธ์รางวัล ซีไรท์ของไทยเรื่อง กะทิ
นอกจากนี้ยังมีบทความเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษาทั้งในแง่ของการใช้สื่อสมัยใหม่เช่นเว็บไซต์ การพูด และการเขียน บทความของชนยา ด่านสวัสดิ์และสิรจิตต์ เดชอมรชัย เกี่ยวข้องกับการสร้างและออกแบบเว็บไซต์สำหรับผู้เรียนภาษาฝรั่งเศสระดับเริ่มต้น บทความของปริชาติ สุทธิเจษฎาโรจน์ เกี่ยวกับการตัดสินการพูดภาษาอังกฤษของผู้พูดชาวไทยโดยเจ้าของภาษา และบทความวิจัยของสาริส ผุงประเสริฐยิ่ง(Saris Phoongprasertying) และผณินทรา ธีรานนท์ (Phanintra Teeranon) ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนของผู้เรียนภาษาอังกฤษซึ่งล้วนแล้วแต่ให้ข้อค้นพบที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะนำไปพัฒนาด้านการเรียนการสอนภาษาต่อไป
กองบรรณาธิการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวารสารภาษาและภาษาศาสตร์ฉบับนี้จะให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่านอย่างเต็มที่ และใคร่ขอขอบคุณสมาชิกวารสารและผู้อ่านทุกท่านที่ให้การสนับสนุนและติดตามวารสารภาษาและภาษาศาสตร์อย่างต่อเนื่องด้วยดีเสมอมา
Article Details
บทความทุกบทความเป็นลิขสิทธิ์ของภาษาและภาษาศาสตร์