การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงของการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้างโดยใช้ทฤษฎีการตั้งราคาหลักทรัพย์ (CAPM)

Main Article Content

กัณฐ์มณี สุริยสุภาพงศ์

บทคัดย่อ

            วัตถุประสงค์ในการวิจัย (1) เพื่อเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงของการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างกับอัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงของดัชนีราคา SET100 (2) เพื่อศึกษาถึงความ-สัมพันธ์ของอัตราผลตอบแทน  และความเสี่ยงของการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ หลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 15 หลักทรัพย์ ได้แก่ AP, ESTAR, ANAN, MK, LALIN, LH, LPN, PF, QH, MJD, TICON, SENA, SPALI, SIRI, A ข้อมูลที่ใช้ประกอบการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) ข้อมูลราคาปิดของดัชนีราคา SET100 และราคาปิดของหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (2) อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 เดือน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 2.40 ต่อปี ใช้แทนหลักทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk free Rate) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้แก่ (1) การคำนวณหาอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างจำนวน 15 หลักทรัพย์ กับอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk-Free Rate) โดยใช้อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 เดือน ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2553 ถึงเดือน มิถุนายน พ.ศ.2558 ใช้อัตราเฉลี่ย 1 เดือน เพื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในดัชนีราคา SET100 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน (2) ทฤษฎีการตั้งราคาหลักทรัพย์ (CAPM) โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2553 ถึงเดือน มิถุนายน พ.ศ.2558 รวมเป็นระยะเวลา 60 เดือน ซึ่งรวบรวมจากเว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาใช้คำนวณอัตราผลตอบแทน


ผลการวิจัยอัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงของการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงของดัชนีราคา SET100 พบว่า (1) หลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด คือ ESTAR โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 28.57  ต่อปี และหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุด คือ SIRI โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 1.81 ต่อปี ค่าความเสี่ยงของหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างพบว่าหลักทรัพย์ที่มีค่าความเสี่ยงสูงสุด คือ PF มีค่าความเสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 18.33 และหลักทรัพย์ที่มีค่าความเสี่ยงต่ำสุด คือ A มีค่าความเสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 2.68 ส่วนผลตอบแทนของดัชนีราคา SET100  เฉลี่ยที่ระดับร้อยละ 13.69 ต่อปี ส่วนค่าความเสี่ยงของตลาดอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.91 (2) หลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่มีค่า  β มากกว่า 1 มีจำนวน 11 หลักทรัพย์ ได้แก่ QH, TICON, PF, MJD, LH, SPALI, SIRI, AMATA, ESTAR, AP และ LPN แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนของตลาดในทิศทางเดียวกัน ถือเป็น Aggressive Stock หลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่มีค่า β น้อยกว่า 1 มีจำนวน 4 หลักทรัพย์ ได้แก่ MK, LALIN, SENA และ A แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนของตลาดในทิศทางเดียวกัน ถือเป็น Defensive Stock (3) ผลการประเมินอัตราผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างโดยใช้ทฤษฎีการตั้งราคาหลักทรัพย์ (CAPM) จะเห็นได้ว่าหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง จำนวน 11 หลักทรัพย์ ได้แก่ QH, TICON, PF, MJD, LH, SPALI, SIRI, AMATA, ESTAR, AP และ LPN ที่มีค่า β มากกว่า 1 มีความเสี่ยงสูงกว่าหลักทรัพย์ตลาดในขณะเดียวกันก็ให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนสูง แสดงว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมีทิศทางเดียวกันกับความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (High Risk High Return) ส่วนหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่มีค่า β น้อยกว่า 1 มีจำนวน 4 หลักทรัพย์ ได้แก่ MK, LALIN, SENA และ A มีความเสี่ยงน้อยกว่าดัชนีราคา SET100 ในขณะเดียวกันก็ให้อัตราผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนน้อยกว่าดัชนีราคา SET100


          สำหรับการทดสอบสมมติฐานพบว่าการประเมินอัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงของหลักทรัพย์กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างได้รับอัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงไปในทิศทางเดียวกัน คือ หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง (ค่า β สูง) จะให้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังสูง และหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (ค่า β ต่ำ) ก็จะให้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการตั้งราคาหลักทรัพย์ (CAPM)

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

อภิรัช ถาวรสุข. (2554). การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทน ความเสี่ยง และประเมินมูลค่าของหลักทรัพย์กลุ่ม อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างโดยการใช้แบบจำลอง CAPM (ปริญญาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นันทพงษ์ มยุรศักดิ์. (2555). การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทน ความเสี่ยง การประเมินราคาหุ้น และการจัดพอร์ตการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานโดยวิธี CAPM (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย.

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย.(2558).ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ย้อนหลัง 5 ปี. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2558, จาก http://www.setsmart.com