พฤติกรรมการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ของประชาชนในเขตฝั่งธนบุรี

Main Article Content

ชลธิชา วิริยะจงเจริญ

บทคัดย่อ

           การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อการวางแผนการเงินส่วนบุคคลของประชาชนในเขตฝั่งธนบุรี จากการสุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน ระหว่างมกราคม ถึง มีนาคม พ.ศ.2557 โดยใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม และรวบรวมข้อมูลมาทำการวิเคราะห์โดยใช้สถิติ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าสถิติร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และใช้สถิติไคสแควร์ (Chi-square)   เพื่อทดสอบสมมติฐาน


           ผลการวิจัย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุ 31 – 35 ปี และรองลงมาคือ มีอายุ 26 – 30 ปี ตามลำดับ โดยระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาในระดับปริญญาตรี มีสถานะภาพโสด ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน มีรายได้ระหว่างเฉลี่ย 15,001 – 20,000 บาท/เดือน รองลงมามีรายได้เฉลี่ยระหว่าง 10,000 – 15,000 บาท/เดือน ในส่วนพฤติกรรม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายโดยการบันทึกบัญชีลงในโปรแกรมบันทึกรายรัยรายจ่าย บันทึกลงในคอมพิวเตอร์ และบันทึกลงในสมาร์ทโฟน ส่วนใหญ่มีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายมามากกว่า 4 ปี โดยวัตถุประสงค์ในการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย คือ เพื่อทราบรายรับรายจ่ายของตนเองมากที่สุด รองลงมาคือ เพื่อวางแผนการออมเงิน และวางแผนการเงินส่วนบุคคลเพื่อการเกษียณ ในส่วนการใช้ประโยชน์จากการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้วางแผนการออมและการใช้เงินในอนาคต รองลงมาคือ ใช้วางแผนการลงทุนเพื่อวางแผนการเกษียณ ส่วนเหตุผลสำคัญที่การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ผู้ตอบแบบสอบถามให้เหตุผลว่าไม่มีความรู้ในการจัดทำ รองลงมาคือ ไม่มีเวลา เห็นว่ามีความยุ่งยากในการจัดทำ และเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ซึ่งความคิดที่จะเชิญชวนผู้อื่นให้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายเนื่องจากเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ใช่หรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่า ใช่


           ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ลักษณะทางประชากรศาสตร์ ด้าน เพศ อายุ สถานภาพ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน และทัศนคติต่อการส่งเสริมการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย ทุกด้าน คือ ด้านความรู้ความเข้าใจและความสำคัญ และด้านการส่งเสริมและการเผยแพร่ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในเขตฝั่งธนบุรีทุกด้าน คือ วิธีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย ระยะเวลาในการทำบัญชีรายรับรายจ่าย วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดทำ ประโยชน์ที่ได้รับ เหตุผลสำคัญที่การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน และความคิดที่จะเชิญชวนผู้อื่นให้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายเนื่องจากเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากค่า Sig. ที่ได้จากการทดสอบความสัมพันธ์มีค่าน้อยกว่า 0.05


            จากการศึกษาทำให้เห็นว่าการที่จะทำให้ประชาชนหันมาทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อการวางแผนการเงินส่วนบุคคลนั้น การส่งเสริมจากภาครัฐนั้นมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจวิธีการในการจัดทำบัญชี ซึ่งมีประโยชน์ต่อการวางแผนการออม และการวางแผนการเงินโดยรวมของประชาชน ที่จะสามารถทำให้ผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนบุคคล มีการใช้ประโยชน์ในการควบคุมรายจ่ายต่างๆ การวางแผนการใช้เงิน และทราบถึงรายรับของตนว่าเพียงพอต่อการสร้างออมเงิน และการวางแผนการใช้เงินในอนาคตหรือไม่ และสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทางรัฐบาลควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการจัดทำบัญชีนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่เงินออมของประชาชนให้งอกเงย อันเป็นการที่จะทำให้ประชาชนมีควมมั่นคงในฐานะทางการเงินในระดับที่เหมาะสมตามอัตภาพของแต่ละคน โดยรัฐควรมุ่งเน้นการส่งเสริมในระดับชุมชนให้เกิดเป็นชุมชนตัวอย่างที่มีความมั่นคงในชีวิต

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (2555,ธันวาคม). ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับประชากรของกรุงเทพมหานคร .สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2556,จาก http://www.dopa.go.th

ชารินี ฉัตรไชยสิทธิกุล. (2543). การออมของครัวเรือนในจังหวัดเชียงใหม่ (วิทยานิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ธิดารัตน์ สงวนศักดิ์. (2545). พฤติกรรมการออมของผู้มีรายได้ประจำ กรณีศึกษาพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (เชียงใหม่) ภาคเหนือ และพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ (วิทยานิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ปราณี เนรมิตร. (2553). การศึกษาอิทธิพลของสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีผลต่อการจัดทำบัญชีครัวเรือนของเกษตรกรในเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ (วิทยานิพนธ์ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.

พนม กิติวัง. (2543). พฤติกรรมการออมของครัวเรือนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ (วิทยานิพนธ์ปริญญาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ภูวไนย พุ่มไทรทอง. (2551). ปัญญา ชูเลิศ, รศรินทร์ เกรย์ และ ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต. การสร้างความอยู่ดีมีสุข: การทำบัญชีครัวเรือน. พิมพ์ครั้งที่ 1. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

มยุรี กิมง่วนสง. (2551). ปัจจัยที่มีผลต่อการจัดทำบัญชีครัวเรือนของเกษตรกรลูกค้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร สาขาบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา (วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

วาริพิณ มงคลสมัย. (2551). การจัดทำบัญชีครัวเรือนของชุมชนในตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดทำบัญชีครัวเรือนของชุมชนในตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.