ปัจจัยอันมีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศึกษาเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ 1

Main Article Content

วิชัย มีสุข

บทคัดย่อ

          การที่ศึกษาหาปัจจัยอันมีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา  มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา  ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา  และเสนอแนะในการส่งเสริมให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา โดยศึกษาจากประชากร (Population) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ประชาชนในพื้นที่เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เขตเลือกตั้งที่ 1 ที่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น จำนวนทั้งสิ้น 9,847 ราย กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเชิงปริมาณ ตัวอย่างจำนวน 384  ราย ใช้สถิติวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analytical Statistics) เป็นสถิติที่ใช้บรรยายคุณลักษณะทั่วไปของข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) และค่าร้อยละ (Percentage)  และสถิติวิเคราะห์เชิงอนุมาน (Inference Statistics) ใช้ทดสอบสมมติฐานเป็นแบบไม่มีพารามิเตอร์ (Nonparametric) เนื่องจากระดับการวัดของตัวแปรเป็นระดับมาตรวัดเรียงลำดับ (Ordinal Scale) ลักษณะของข้อมูลไม่มีการแจกแจงแบบปกติ จึงต้องใช้สถิติเพื่อทดสอบสมมุติฐาน


           จากผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า อายุของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เขตเลือกตั้งที่ 1 ของเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาที่ไปเลือกตั้งมากที่สุดอยู่ระหว่าง  41 -51 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่ จึงออกไปใช้สิทธิมากกว่าประชาชนที่อายุน้อยที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่  ด้านการศึกษาพบว่าประชาชนมีระดับการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เป็นผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ด้วยเพราะยังมีความเชื่อในตัวผู้นำชุมชน เครือญาติฝากผู้สมัครมา ไม่ได้ตัดสินใจจากองค์ความรู้ของตน สำหรับผู้ที่มีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป เบื่อหน่ายการเลือกตั้งที่มีแต่นักการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์ จึงไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารพบว่าประชาชนติดตามข่าวสารการเมืองท้องถิ่นจากสื่อมวลชนมากจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่า ทั้งนี้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารมิได้จำกัดอยู่แต่ช่องทางที่เป็นทางการเท่านั้น ในที่นี้ยังหมายรวมถึงสภากาแฟ หรือการพบปะพูดคุย ซึ่งเมื่อรวมกับสื่อมวลชนด้วยแล้ว จึงสรุปได้ว่าผู้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวมากจะไปใช้สิทธิของตนตามข้อมูลที่ได้รับรู้มาตามไปด้วย และการพิสูจน์สมมติฐาน สมมติฐานที่ 1 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุมากมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยามมากกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุน้อย สมมติฐานที่ 2 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีรายได้ต่ำมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยามากกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีรายได้สูง  สมมติฐานที่ 3 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีระดับการศึกษาต่ำมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยามากกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีระดับการศึกษาสูง สมมติฐานที่ 4 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับข้อมูลข่าวสารมากมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยามากกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับข้อมูลข่าวสารน้อย  ผลการพิสูจน์สมมติฐานพบว่า มีความสัมพันธ์กับการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงยอมรับสมมติฐานทั้ง  4

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

โกวิทย์ พวงงาม. (2552) . การปกครองท้องถิ่นไทย: หลักการและมิติใหม่ในอนาคต. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน.
ติน ปรัชญพฤทธิ์. (2528). ศัพท์รัฐประศาสนศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธานินทร์ ศิลป์จารุ. (2553). การวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วย SPSS. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร: บิสซิเนสอาร์แอนด์ดี.
วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. (2546). การบริหารและจัดการเทศบาลในยุคปฏิรูปการเมือง. กรุงเทพมหานคร
วิสุทธิ์ โพธิแท่น. (2524) . ประชาธิปไตย : แนวคิดและตัวแบบประเทศประชาธิปไตยในอุดมคติ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อุทัย หิรัญโต. (2523). การปกครองท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.