การศึกษาเอกลักษณ์เครื่อง ประดับไทย 4 ภาค เพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบเครื่องประดับเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้เครื่องประดับร่วมสมัย

มัณฑนา ทองสุพล และกนกเนตร พินิจด่านกลาง

ผู้แต่ง

  • มัณฑนา ทองสุพล
  • กนกเนตร พินิจด่านกลาง

คำสำคัญ:

เอกลักษณ์เครื่องประดับไทย, ประยุกต์, ร่วมสมัย

บทคัดย่อ

การศึกษาเอกลักษณ์เครื่องประดับไทย 4 ภาค เพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบเครื่องประดับเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้เครื่องประดับร่วมสมัยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาเอกลักษณ์เครื่องประดับไทย 4 ภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่จังหวัดสุโขทัย จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุรินทร์ 2) เพื่อศึกษาลักษณะเฉพาะและรสนิยมของผู้ใช้เครื่องประดับร่วมสมัย 3) เพื่อนำข้อมูลเอกลักษณ์เครื่องประดับไทย 4 ภาค มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบเครื่องประดับเงินร่วมสมัยจำนวน 4 ชุด ใน 1 ชุดประกอบด้วย แหวน จี้ ต่างหู 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย ที่มีต่อรูปแบบเครื่องประดับเงินร่วมสมัยที่ออกแบบขึ้นใหม่ผลการวิจัยสรุปตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

1) การศึกษาเอกลักษณ์เครื่องประดับไทย 4 ภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุรินทร์ ผลการวิจัยสรุปว่า 1) เครื่องประดับจังหวัดเชียงใหม่มีรูปร่างรูปทรงเรขาคณิตและดอกไม้ มีสีเงินและมีการลงยาสีดำในบางชิ้น มีอัญมณีประดับในบางชิ้น ลวดลายเป็นลายโบราณ เช่น ลายกนก ลายดอกพิกุล ลายนก ลายช้าง กรรมวิธีการผลิตเป็นการขึ้นรูปด้วยมือมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดในการดุนลาย  2) เอกลักษณ์เครื่องประดับจังหวัดสุโขทัย รูปร่างรูปทรงเลียนแบบสิ่งที่พบเห็นตามธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ดอกไม้ สัตว์ ของใช้ในชีวิตประจำวัน และรูปร่างรูปทรงอิสระตามความคิดสร้างสรรค์ของช่างและตามความต้องการของลูกค้า และบางส่วนเป็นรูปร่าง รูปทรงเรขาคณิต สีเป็นสีเงินและตกแต่งลวดลายด้วยการลงยาสีต่างๆ เช่น สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเขียว ไม่นิยมใช้อัญมณีประดับ ลวดลายของเครื่องประดับจะเรียนแบบมาจากของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ลูกปี๊บ ลูกหมอน ลูกประคำ ลูกกลอง ลูกสุ่ม ลูกกระเช้า ลูกตะกร้อ ลายเครือวัลย์ หรืออีกส่วนหนึ่งที่นำมาจากโบสถ์ วิหาร ก็จะเรียกชื่อตามโบราณสถาน เช่น กำไลนางพญา ซึ่งนำมาจากผนังวัดนางพญา กรรมวิธีการผลิตเป็นการขึ้นรูปเครื่องประดับด้วยมือโดยการรีดเป็นแผ่นและรีดเป็นเส้นขนาดตามต้องการ ความโดดเด่นคือ เส้นเงินที่ถูกรีดแล้วจะนำมาพันเป็นเกลียวแล้วนำไปดัดเป็นลวดลายและนำไปลงยาสีต่อไป 3) เครื่องประดับจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปร่างรูปทรง เรขาคณิต สีมีสีเงินและสีทอง โดยมีการถมเงินและถมทอง ด้วยยาถมสีดำสนิท ลวดลายเป็นลายไทย ได้แก่ ลายกนก ลายใบเทศ ลายประจำยาม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายกระจัง ลายก้านขด ลายบัวควํ่าบัวหงาย ลายเม็ดบัว กรรมวิธีการผลิตเป็นการขึ้นรูปเครื่องประดับด้วยมือ และขั้นตอนสุดท้ายมีการแรเงาชิ้นงานเพื่อเพิ่มความสวยงามและความละเอียด และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องถมนคร 4) เครื่องประดับจังหวัดสุรินทร์รูปร่างรูปทรง มีลักษณะ 2 รูปแบบ คือ 1) ตะเกา หรือต่างหู มีรูปร่างรูปทรงกลมเลียนแบบดอกไม้บาน 2) ประเกือม หรือประคำ มีรูปร่างรูปทรงเรขาคณิต และเลียนแบบสิ่งที่อยู่รอบตัวหรือของใช้ ตะเกาจะใช้สีของเนื้อเงินล้วนไม่มีการชุบสีอื่นหรือลงยา ไม่มีอัญมณีประดับ ส่วนประเกือม มีการแกะลวดลายแล้วลงยาสีดำเพียงสีเดียว ไม่มีอัญมณีประดับ ลวดลายตะเกามีทั้งหมด 13 ลาย และลวดลายของประเกือมมีทั้งหมด 13 เช่นกัน กรรมวิธีการผลิตเป็นการขึ้นรูปเครื่องประดับด้วยมือผลิตแบบดั้งเดิมตามที่ได้รับการถ่ายจากบรรพบุรุษ

2) ศึกษาลักษณะเฉพาะและรสนิยมของผู้ใช้เครื่องประดับร่วมสมัย ผลการวิจัยสรุปว่า จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 100 คน คิดเป็นค่าร้อยละมากที่สุดตามรายข้อดังนี้ เพศหญิง (ร้อยละ 85) อายุช่วง 30-40 ปี (ร้อยละ 41) มีอาชีพเป็นข้าราชการ (ร้อยละ 61) มีรายได้ 30,001บาทขึ้นไป (ร้อยละ49) และระดับการศึกษาปริญญาตรี (ร้อยละ 60) ชื่นชอบรูปร่างรูปทรงเลียนแบบธรรมชาติมากที่สุด (ร้อยละ 56) ชื่นชอบอัญมณีสีขาวมากที่สุด(ร้อยละ 38) อยากให้ปรากฏลวดลายบนเครื่องประดับเป็นลวดลายใหม่โดยลดทอนรายละเอียดแต่ยังคงเอกลักษณ์เดิมมากที่สุด (ร้อยละ 65) และชื่นชอบกรรมวิธีการผลิตแบบแฮนเมคมากที่สุด (ร้อยละ 55)

3) นำข้อมูลเอกลักษณ์เครื่องประดับไทย 4 ภาค มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบเครื่องประดับเงินร่วมสมัยจำนวน 4 ชุด ใน 1 ชุดประกอบด้วย แหวน จี้ ต่างหู ผลการวิจัยสรุปว่า การออกแบบใช้หลักการออกแบบเครื่องประดับเน้นให้เห็นผลด้านความสวยงามความคิดสร้างสรรค์ และประโยชน์ใช้สอย ผสมผสานเอกลักษณ์เครื่องประดับในแต่ละภาคด้านรูปร่างรูปทรง สี ลวดลาย และกรรมวิธีการผลิตตามรสนิยมผู้ใช้เครื่องประดับร่วมสมัย

4) ประเมินความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย ที่มีต่อรูปแบบเครื่องประดับเงินร่วมสมัยที่ออกแบบขึ้นใหม่ ผลการวิจัยสรุปว่า มีการประเมินความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายจำนวน 200 ราย ค่าเฉลี่ยรวมของรูปแบบเครื่องประดับทั้ง 4 ภาค อยู่ในระดับมาก (= 4.12)

References

กนกวรรณ ใจหาญ. (2554). การศึกษาเครื่องประดับทองสุโขทัย : กรณีศึกษาการออกแบบและทำต้นแบบเครื่องประดับเงินชุบทองในระบบอุตสาหกรรม. วิทยานิพนธ์ ศป.ม. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

มนต์มนัส ผลาหาญ. (2556). เครื่องเงินบ้านวัวลาย ชุมชนวัดหมื่นสารบ้านวัวลายและชุมชนวัดศรีสุพรรณจังหวัดเชียงใหม่. การศึกษาค้นคว้าเฉพาะบุคคล. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วัชรินทร์ จรุงจิตสุนทร. (2548). หลักการและแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์. กรุงเทพฯ : Idesign Publishing.

วรรณรัตน์ ตั้งเจริญ. (2526). ศิลปะเครื่องประดับ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สันติศิริ.

วัฒนะ จูฑะวิภาต. (2545). การออกแบบเครื่องประดับ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน). (2552). ครูศิลป์ของแผ่นดิน 1. กรุงเทพฯ

สิริลักษณ์ หมื่นห่อ. (2550). Life history เรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตช่างถมเมืองนคร :กระบวนการเรียนรู้และกระบวนการเข้ามาสู่การเป็นช่าง. ปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิต. มหาวิทยาลัยศิลปากร

สุทัศนา สุทธิกุลสมบัติ. (2539). การผลิตและจำหน่ายประเกือม ตำบลเขวาสินรินทร์จ.สุรินทร์. สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน). กลยุทธ์เครื่องประดับเงินไทยเจาะตลาดการค้าโลก. https://www.git.or.th. (30 สิงหาคม2554)

อารีย์ ทองแก้ว. (2549). วัฒนธรรมท้องถิ่นสุรินทร์. สุรินทร์ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-28

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)