การพัฒนาการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ธนานันต์ กัญญาราช

ผู้แต่ง

  • ธนานันต์ กัญญาราช

คำสำคัญ:

การบริหารจัดการกองทุน, กองทุนสวัสดิการชุมชน

บทคัดย่อ

งานวิจัยฉบับนี้มีจุดประสงค์ของการศึกษาคือ 1) เพื่อศึกษากระบวนการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน 2) เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดสวัสดิการของกองทุนสวัสดิการชุมชน และ 3) เพื่อหาแนวทางพัฒนาการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการของชุมชนในพื้นที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความยั่งยืนการศึกษาวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) และ การสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) โดยมีขอบเขตของกองทุนที่ทำการศึกษาคือ 1. เป็นกองทุนที่มีสมาชิกมากกว่า 1,000 คนขึ้นไป 2. เป็นกองทุนที่มีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 1 ล้านบาท 3. เป็นกองทุนที่ดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยเก็บข้อมูลครอบคลุมประเด็นหลักคือ 1. การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน  2. รูปแบบการจัดสวัสดิการของกองทุนสวัสดิการชุมชน และ 3. การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสวัสดิการชุมชน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การพรรณนาความ (Descriptive) ควบคู่กับการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (Induction) จากข้อมูลการสัมภาษณ์ประกอบกับเอกสารอื่นๆ (Document Analysis) และแสดงผลการศึกษาด้วย การพรรณนาในลักษณะความเรียง ผลการศึกษาพบว่า

ประเด็นที่ 1 การบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนนั้นเป็นการต่อยอดโครงการจากโครงการดูแลผู้สูงอายุของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในขณะนั้นให้กลายมาเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนมีการเก็บเงินออมทรัพย์วันละ 1 บาท เดือนละ 30 บาท ต่อคน โดยบังใช้ระเบียบบริหารกองทุนจากกระทรวง มีคณะกรรมการกองทุนที่มีวาระในการดำารงตำแหน่งคราวละ 2 ปี มีการจัดสรรเงินงบประมาณของกองทุนในลักษณะ 80:20 แบ่งเป็นเงินจัดสวัสดิการและบริหารงาน 80 เปอร์เซนต์และเก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองอีก 20 เปอร์เซนต์

ประเด็นที่ 2 รูปแบบการจัดสวัสดิการของกองทุนสวัสดิการชุมชน จากการศึกษาพบว่ารูปแบบที่กองทุนสวัสดิการชุมชนใช้ในปัจจุบันรูปแบบการจัดสวัสดิการองค์กรชุมชนร่วมทุน ผ่านการสนับสนุนเงินงบประมาณจากภาครัฐบางส่วนและจัดเก็บจากสมาชิกบางส่วน โดยสามารถแบ่งการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกกองทุนได้ 4 ประเภทหลัก ได้แก่
การเกิด การศึกษา เจ็บป่วย เสียชีวิต

ประเด็นที่ 3 การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสวัสดิการชุมชนผลการศึกษาพบว่า มี 2 ส่วนคือหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั้งในระดับจังหวัดและหน่วยงานย่อยอย่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ การจัดการ และงบประมาณ และอีกหน่วยงานคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งให้การสนับสนุนงบประมาณรายปีให้แก่กองทุน ซึ่งกองทุนสวัสดิการชุมชนจะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานให้หน่วยงานดังกล่าวทราบเป็นระยะ 

ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะคือ กองทุนสวัสดิการชุมชนควรมีการบูรณาการกับทุนทางสังคมทุนการเงินอื่น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับสวัสดิการชุมชน ควรมีการจัดทำแผนพัฒนาในทุกมิติของการบริหารจัดการกองทุน ควรมีการเสริมสร้างให้กองทุนสวัสดิการชุมชนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ในเรื่องของการออม การจัดสวัสดิการสังคม มีการบูรณาการองค์ความรู้ ความร่วมมือกับกองทุนสวัสดิการชุมชนอื่นๆ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากร และ ควรมีการเสริมสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้เข้ามาบริหารงานกองทุน และสร้างระบบสารสนเทศที่เป็นมาตรฐาน

References

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. 2549. โครงการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จการจัดสวัสดิการขององค์กรชุมชน. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดเทพเพ็ญวานิสย์.

เจนจิรา จายโยง. 2556. รูปแบบการบริหารจัดการกองทุนวันละบาทเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการจัดการกองทุนสวัสดิการโดยชุมชนในเขตเทศบาลตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน. รายงานการค้นคว้าอิสระคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ชัยพร พิบูลศิริ. 2551. การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน. วารสารพัฒนบริหารศาสตร์. 48, 1 (2551): 48-57

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ. 2544. สวัสดิการโดยภาคชุมชน: กลุ่มออมทรัพย์. กรุงเทพมหานคร:ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ. 2546. บทสังเคราะห์ภาพรวมการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: เอดิสันเพรสโปรดักส์.

ณัฐพงศ์ ทองภักดี. 2557. สวัสดิการสังคมไทย: ความสมดุลและยั่งยืน. กรุงเทพมหานคร: คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

ประสิทธิ์ มีช้าง. 2552. ทางเลือกการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับชุมชนโดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบล. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ธิดารัตน์ คีมกระโทก. 2551. กระบวนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน: กรณีศึกษา ตำบลสมานฉันท์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

ระพีพรรณ คำหอม. 2554. สวัสดิการสังคมกับสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร:คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สมชาย ศรีสวัสดิ์. 2558. การศึกษารูปแบบการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนออมวันละ 1 บาท: กรณีศึกษา ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา. ภาคนิพนธ์คณะศิลปศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

อาจยุทธ เนติธนากุล และโยธิน แสวงดี. 2547. แนวคิดเพื่อการพัฒนาชุมชนในมิติพลวัตประชากรทุนทางสังคม ทุนมนุษย์และองค์ความรู้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ใหม่. วารสารสุโขทัยธรรมาธิราช. 17, 1 (มกราคม-มิถุนายน): 56-67.

อัศวิน จุมปา. 2555. การพัฒนารูปแบบสวัสดิการชุมชนบนพื้นฐานทุนทางสังคมตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง.

ธนะชัย ปัวบุปผา. 2555. การศึกษากระบวนการและรูปแบบบูรณาการกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยหัวเฉียว

Gearey Adam. 2015. Welfare Community and Solidarity. Law Culture and the Humanities. 11, 3: 340-348

เผยแพร่แล้ว

2019-01-02

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)