ลายพิณอีสาน : กลวิธีการเรียบเรียงและการบรรเลงของนายทองใส ทับถนน และนายบุญมา เขาวง

อภิรักษ์ ภูสง่า, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณรงค์รัชช์ วรมิตรไมตรี

ผู้แต่ง

  • อภิรักษ์ ภูสง่า
  • ณรงค์รัชช์ วรมิตรไมตรี

คำสำคัญ:

ลายพิณ, พิณ, การบรรเลงพิณ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ดนตรีพื้นบ้าน

บทคัดย่อ

การศึกษา เรื่อง “ลายพิณอีสาน : กลวิธีการเรียบเรียงและการบรรเลงของนายทองใส ทับถนนและนายบุญมา   เขาวง” เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีความมุ่งหมายเพื่อ ศึกษาประวัติและผลงานของนายทองใส ทับถนนและนายบุญมา เขาวง  ศึกษากลวิธีการเรียบเรียงลายพิณอีสานของนายทองใส ทับถนนและนายบุญมา เขาวง ศึกษากลวิธีการบรรเลงลายพิณอีสานของนายทองใส ทับถนนและนายบุญมา เขาวง

                            ผลจากการวิจัยพบว่า ในด้านประวัติและผลงาน นายทองใส ทับถนน เกิดวันที่14 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 168 หมู่ 8 บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สมรสกับนางประมวล ทับถนน มีบุตรด้วยกัน 3 คน ทองใส ทับถนนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินดีเด่นสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีอีสาน)ในปี 2543 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยในปี 2545 นายบุญมา เขาวง เกิดวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 17 หมู่ 9 บ้านคำกุง ตำบลหมูม่น อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ท่านสมรสกับนางเป๋ เขาวง มีบุตรด้วยกัน 3 คน นายบุญมา เขาวง ได้รับรางวัลนาคราชทองคำเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านอีสานจากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคามในปี 2553 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสานสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีพื้นบ้านอีสานพิณ) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นปี 2556 ลักษณะพิณอีสานของนายทองใส ทับถนน เป็นพิณ 2 สาย พิณทำจากแก่นไม้มะขามส่วนกะโหลกและคอนั้นเป็นชิ้นเดียวกัน ด้านบนของคอพิณทำเป็นหัวรูปลายกนก มีคอนแท็คหรือตัวรับเสียงติดอยู่ที่กะโหลก และมีขั้นเสียงทั้งหมด 11 ขั้น สายพิณทำมาจากสายโทรศัพท์ของทหาร ปิ๊กพิณทำจากเขาสัตว์ เช่น เขาวัว เขาควาย โดยทำเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวๆ ลักษณะพิณอีสานของนายบุญมา เขาวง เป็นพิณ 3 สาย พิณทำจากแก่นไม้แคนหรือไม้ตะเคียนและกะโหลกและคอนั้นเป็นชิ้นเดียวกัน คอนแท็คหรือตัวรับเสียงติดอยู่ที่กะโหลก มีขั้นเสียงทั้งหมด 9 ขั้น สายพิณทำมาจากลวดเบรกรถจักรยาน ปิ๊กพิณทำจากพลาสติก เช่น ขวดน้ำ ขวดน้ำมัน 2T โดยทำเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือใช้ปิ๊กกีต้าร์  ในด้านกลวิธีการเรียบเรียงลายพิณอีสานของนายทองใส ทับถนนและนายบุญมา เขาวง ผลการศึกษาพบว่า ลายเต้ย ลายลำเพลิน ลายสร้อย มีการเรียบเรียงทำนองหลักและการพัฒนาทำนอง เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มาใช้ได้อย่างเหมาะสมและน่าสนใจ ในด้านกลวิธีการบรรเลงลายพิณอีสานของนายทองใส ทับถนนและนายบุญมา เขาวง พบว่า ลายเต้ย ลายลำเพลิน ลายสร้อย มีการตั้งสายพิณเป็น คู่ 5 เฟอร์เฟคท์ เสียง ลา(A) กับ มี(E) แต่สามารถเล่นได้ทั้งบันไดเสียง A ไมเนอร์, D ไมเนอร์, G เมเจอร์ และมีการย้ายขั้นคู่เสียงเพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการ มีการใช้เทคนิคการบรรเลง คือ ดีดลง ดีดสลับขึ้นลง ดีดด้น  ดีดควบ  ดีดเล๋ว ดีดสะบัด ดีดกรอ ดีดจก ดีดยั้งสาย และพรมนิ้วขึ้นลงอย่างสม่ำเสมอตามจังหวะของเพลง ดีดลงอย่างสม่ำเสมอตามจังหวะของเพลงจนจบเพลง

References

ณรงค์รัชช์ วรมิตรไมตรี. (2560). เอกสารประกอบการสอน วิชา 2007102 หลักการทางดนตรีวิทยา. มหาสารคาม:
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ธงชัย จันเต. (2553). การศึกษาลายพิณในวัฒนธรรมดนตรีอีสานกรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธาณี. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา.
บุญโฮม พรศรี. (2543). พิณอีสานกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษาจังหวัดอุดรธานี. วิทยานิพนธ์ ศศ.ม.
มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ปิยพันธ์ แสนทวีสุข. (2549). ดนตรีพื้นบ้านอีสาน : คีตกวีอีสาน ตำนานเครื่องดนตรีและการเรียนรู้ดนตรีพื้นบ้านอีสาน. มหาสารคาม: อภิชาตการพิมพ์.
วีรยุทธ สีคุณหลิ่ว. (2554). เทคนิคการบรรเลงพิณของศิลปินพื้นบ้านอีสาน. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
สุกิจ พลประกุม. (2536). เป่าแคนแบบพื้นบ้านอีสาน. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
อดินันท์ แก้วนิล. (2549). การศึกษาวิธีการบรรเลงและการถ่ายทอดศิลปะการบรรเลงพิณของอาจารย์ทองใส ทับถนน.
สาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี.

สัมภาษณ์
ทองใส ทับถนน. (14 พฤษภาคม 2561). สัมภาษณ์. ศิลปินมือพิณพื้นบ้านอีสาน. บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี.
บุญมา เขาวง. (6 กุมภาพันธ์ 2561). สัมภาษณ์.ศิลปินมือพิณพื้นบ้านอีสาน. บ้านนาอินแปลง ตำบลขมิ้น อำเภอเมือง จังหวัด กาฬสินธุ์.

เผยแพร่แล้ว

2019-07-01

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research Articles)