การศึกษาแบบบ้านเคหะชนบทแบบบูรณาการภาคกลาง กรณีศึกษาจังหวัดเพชรบุรี
คำสำคัญ:
แบบบ้านเคหะชนบท, ภาคกลาง, เพชรบุรี, Rural Housing, Housing Prototype, Petchburiบทคัดย่อ
โครงการศึกษาแบบบ้านเคหะชนบทแบบบูรณาการภาคกลาง กรณีศึกษาจังหวัดเพชรบุรี เกิดขึ้นจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ เล็งเห็นปัญหาว่าสภาพแวดล้อมในพื้นที่ในชนบทของประเทศไทยในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางกายภาพอันเนื่องมาจากการหยิบยืมรูปแบบบ้านเรือนในบริบทชุมชนเมืองมาก่อสร้างในชุมชนชนบท โดยไม่ได้คำนึงว่าวิถีชีวิตและบริบทของพื้นที่นั้นแตกต่างกัน และยังส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ถูกลดทอนลงและถูกมองว่าไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้สอยในบริบทสังคมร่วมสมัย
เหตุปัจจัยข้างต้นเป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแบบบ้านที่เหมาะสมกับชนบทในแต่ละพื้นที่ตามบริบทต่าง ๆ ทั้งนี้ ได้คัดสรรจังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่ศึกษา เพื่อจัดทำต้นแบบบ้าน และแบบก่อสร้าง พร้อมแบบต่อเติมอาคารเมื่อครอบครัวขยายขึ้นเพื่อให้บริการแก่ ประชาชน ทั้งนี้ ด้วยมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพที่อยู่อาศัยในชนบทอันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความเข้าใจในท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยสามารถผสมผสานคุณค่าด้านการใช้วัสดุ รูปแบบการอยู่อาศัย และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างสมดุล และสังเคราะห์ออกมาเป็นแบบบ้านชนบทที่มีเอกลักษณ์ของความร่วมสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ เพื่อให้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นยังคงดำรงอยู่ได้ท่ามกลางสังคมชนบทสมัยใหม่