การวางทิศทางของวัดในเมืองประวัติศาสตร์หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
คำสำคัญ:
การวางทิศ, วัด, หลวงพระบาง, Orientation, Layout Plan, Temple, Luang Prabangบทคัดย่อ
การศึกษาการวางทิศทางของผังบริเวณ และการหันหน้าวัดในเมืองหลวงพระบางนี้ใช้การพิจารณาจากการวางตัวและการหันหน้าของสิม ซึ่งเป็นอาคารประธานของวัด พบว่า การวางทิศทางมีความสัมพันธ์กับคติในการวางผังเรือนพื้นถิ่นที่อยู่ออาศัยของชาวลาวที่ให้ความสำคัญกับแนวทางการไหลของสายน้ำ กล่าวคือ จะวางแนวอาคารให้หันสันหลังคาขนานกับสายนํ้า โดยหันด้านหน้าไปทางทิศต้นนํ้า ทั้งนี้ จากการศึกษาไม่พบการวางผังอาคารตามคติพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญกับทิศะวันออก ดังเช่นการออกแบบวางผังวัดในวัฒนธรรมล้านนาและสุโขทัยซึ่งมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์กับหลวงพระบาง
ทว่าต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 24 จากการศึกษาพบว่า เริ่มมีการวางผังและการหันทิศของสิมที่ให้ความสำคัญกับเส้นทางสัญจร และการเข้าถึง ดังมีกรณีศึกษา สิมที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ในวัดเดิมที่หันหน้าสู่เส้นทางสัญจร ทว่าก็มีตัวอย่างไม่มากนัก เนื่องจากในเวลาต่อมาเมืองหลวงพระบางประสบปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองจากการที่ฮ่อเข้าปล้นเมือง และต่อมาตกเป็นเมืองในอารักขาของฝรั่งเศส จนเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย และต่อมาเมื่อเมืองหลวงพระบางได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลก ทำให้การรื้อสิมเก่าลงและสร้างใหม่ไม่อาจทำได้ต่อไป จึงทำให้ในเขตพื้นที่เมืองประวัติศาสตร์หลวงพระบางไม่ปรากฏตัวแบบสิมที่หันหน้าเข้าสู่เส้นทางสัญจรอีก