บทบรรณาธิการ
Main Article Content
Abstract
“ประวัติศาสตร์ที่เราอ่านกันนั้น แม้ว่าโดยพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริง แต่ถ้าว่ากันอย่างเคร่งครัดแล้ว หาใช่ความจริงแต่อย่างใด หากคือชุดเรียงร้อยของความเห็นที่ยอมรับกันว่าจริง”
Geoffrey Barraclough, History in a Changing World (Oxford : Basil Blackwell, 1955), 14.
หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 10 เริ่มจากการพูดคุยกันในกลุ่มคณาจารย์ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรมว่า “การเขียนประวัติศาสตร์” หรือที่บางครั้งใช้ทับศัพท์กันว่า “Historiography” นั้น แม้ว่าจะเป็นศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์ในประเทศไทยรู้จักและนำมาใช้กันใน แวดวงการศึกษาไทยมาระยะหนึ่งแล้ว หากศาสตร์แขนงนี้ยังคงถูกพูดถึงในแวดวงการศึกษาทางศิลป-สถาปัตยกรรมแต่เพียงเล็กน้อย และแม้ในทศวรรษที่ผ่านมาจะมีบทความและหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่มีคุณภาพมากขึ้น และในจำนวนนั้นเป็นงานในประเด็นปัญหาร่วมสมัยที่พิจารณาสถาปัตยกรรมในนัยยะที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางการเมือง การเข้าสู่ความทันสมัย การเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยม การสร้างอาณานิคมภายใน และภาวะหลังยุคอาณานิคม ฯลฯ แต่คงต้องยอมรับว่า ยังมีการอภิปรายเกี่ยวกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นปัญหาเหล่านี้อยู่น้อยมากในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในประเทศไทย
ภาวะเช่นนี้ นับเป็นการเพิกเฉยของนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมต่อตรรกวิทยาและพัฒนาการเชิงทฤษฎีทางสังคมที่ขยายตัวและพัฒนาขึ้นในโลกวิชาการตะวันตก หรือจริง ๆ เป็นเรื่องที่รับรู้และนำมาใช้กันในการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดเวทีที่จะตั้งวงสนทนา จัดประชุมสัมมนา เพื่อการถกเถียงกันอย่างจริงจัง
เราเห็นกันว่า คงเป็นทั้งสองอย่างนั้น จึงเป็นที่มาของหน้าจั่วฯ ฉบับนี้
ทั้งนี้ โดยพื้นฐาน มีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 ข้อ ที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ดูจะปฏิเสธไม่ได้ ต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ข้อแรก เป็นข้อที่มักถามกันเวลามีการเสนอประเด็นทางวิชาการ คือ การใช้อะไรเป็นหลักฐาน นักประวัติศาสตร์ต้องสามารถบอกได้ว่าหลักฐานที่ใช้มีความสำคัญต่อเรื่องที่ศึกษาอย่างไร และการที่นักประวัติศาสตร์จะเห็นว่าหลักฐานใดสำคัญหรือไม่อย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการประเมินคุณค่าและให้ความหมายต่อหลักฐาน อันเป็นวิธีที่นักประวัติศาสตร์บ่มเพาะมาจากประสบการณ์ การศึกษา ตลอดจนอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมที่ห้อมล้อมตัวเขาอยู่
ข้อที่ 2 คือความจริงที่ว่า “ความจริง” ทางประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้มาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่านั้น หากยังตั้งอยู่บน การตัดสินใจ ของนักประวัติศาสตร์เองด้วยไม่น้อย เพราะแน่นอนว่าหลักฐานไม่มีปาก จึงพูดด้วยตัวเองไม่ได้ แต่เป็นนักประวัติศาสตร์ที่พูดแทนหลักฐานนั้น และในกระบวนการ “พูดแทน” นี่เอง นักประวัติศาสตร์ได้เลือกสรร คัดกรอง ข้อเท็จจริงจากหลักฐานในอดีตจำนวนนับไม่ถ้วนมาใช้ ซึ่งในกระบวนการนั้นย่อมต้องเลือกบางอย่างไว้ และเขี่ยบางอย่างออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม ก่อนจะนำมาให้เหตุผล เรียบเรียง และประพันธ์ขึ้นเป็นงานเขียน
“ความจริง” ทางประวัติศาสตร์ จึงเป็นอย่างที่นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ E. H. Carr กล่าวเปรียบเทียบไว้ในหนังสือ What is History? ว่า “เป็นดั่งกระสอบที่จะตั้งขึ้นได้ก็เมื่อนักประวัติศาสตร์ ใส่อะไรบางอย่างลงไป” ทั้งนี้ เพราะ “กระสอบ” ที่เราเห็นว่าตั้งขึ้นได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง หากต้องอาศัยน้ำมือของนักประวัติศาสตร์ในการทำให้กระสอบนั้นตั้งขึ้น จึงกล่าวได้ว่าไม่มีประวัติศาสตร์ใดที่ปราศจากผู้เขียน ฉะนั้น “ความจริง” ทางประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่ไม่สัมบูรณ์ ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งไม่อยู่เหนือกาลเวลา หรือเป็นอิสระจากการตีความของนักประวัติศาสตร์ แม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจจะหลงลืมความจริงข้อนี้ไปบ้างก็ตาม
กล่าวถึงบทบาทของนักประวัติศาสตร์ในฐานะผู้มีส่วนสร้าง “ความจริงในอดีต” ขึ้นมาเช่นนี้ ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่เป็นดั่งภาพจิ๊กซอว์ขนาดมหึมาที่บางชิ้นส่วนขาดหายไป และรอนักประวัติศาสตร์มาเติมให้เต็มเท่านั้น แต่ในกระบวนการต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์นั้น นักประวัติศาสตร์ยังได้สร้างภาพใหม่ซ้อนทับเพิ่มเติมเข้าไปพร้อมๆ กันอีกด้วย “ประวัติศาสตร์” จึงไม่ใช่ภาพนิ่งของอดีตที่ตายแล้ว แต่เป็นกระบวนการต่อล้อต่อเถียงกันระหว่างอดีตและปัจจุบันที่นักประวัติศาสตร์ทำให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
หน้าจั่วฯ ฉบับ การเขียน ‘ประวัติศาสตร์’ สถาปัตยกรรม : ความจริงในอดีตหรืออดีตที่ถูกทำให้จริง นี้ เป็นการพยายามกลับไปสู่ธรรมชาติของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม เราได้เชิญชวนผู้ที่สนใจใน “วิธีวิทยา” ทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าวิธีวิทยานั้นจะพัฒนามาจากประสบการณ์ที่สะสมมา หรือประยุกต์ใช้จากแนวทฤษฎีสำนักต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นในโลกตะวันตก โดยได้เชิญชวนให้ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนคำตอบ ในรูปแบบบทความวิชาการว่า ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมถูก “สร้าง” ขึ้นมาได้อย่างไร อะไรคือหลักฐานที่ผู้สร้างประวัติศาสตร์อ้างอิง สิ่งที่นักประวัติศาสตร์เล่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ทำไมประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งจึงมีความน่าเชื่อถือกว่างานเขียนอีกชิ้นหนึ่ง อะไรคือ “กฎเกณฑ์” ทางวิชาการ (intellectual criteria) ในการตีความทางประวัติศาสตร์ฯ ที่ทำให้การตีความบางอย่างเป็นที่ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้
ผลจากการคัดกรองและพิจารณาคุณภาพบทความที่ส่งมาร่วมเสวนาในประเด็นปัญหาดังกล่าว ได้กลายมาเป็น หน้าจั่วฯ ฉบับที่ท่านกำลังถืออยู่นี้ ถามว่า หน้าจั่วฯ ฉบับนี้ได้เสนอสูตรสำเร็จ ในการเขียนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมหรือไม่ คงต้องขออนุญาตตอบตรงนี้ว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น และอยากจะกล่าวอีกด้วยว่า คงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะคงไม่มีการเขียนประวัติศาสตร์ใดที่เป็นสูตรสำเร็จ เราเพียงแต่หวังว่า หน้าจั่วฯ ฉบับนี้จะมีส่วนในการเปิดพื้นที่และขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับตรรกวิทยาการเขียนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมบ้าง และหวังว่าคงจะทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงบทบาทและข้อจำกัดของประวัติศาสตร์ในการให้ภาพของอดีต ทั้งที่ “จริง” และ “ไม่จริง”