Editorial Editorial

Main Article Content

Pinai Sirikiatikul

Abstract

หน้าจั่ว ฉ. 16  2562 | 5
บทบรรณาธิการ
หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 16 (มกราคม-มิถุนายน 2562)
ประกอบด้วยกัน 6 บทความ บทความแรกโดย อิสริยะ นันท์ชัย เรื่อง “สถาปัตยกรรมจองวัดปะโอ (ต่องสู้)
ในประเทศไทย และเมืองสะเทิมประเทศพม่า” ศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมประเภทจอง (วิหาร) ใน
ภาคเหนือของไทยที่สร้างขึ้นโดยพ่อค้าไม้สักมีฐานะกับจองในสะเทิมของพม่าตอนล่าง ในช่วงคริสตวรรษที่
19-20 โดยได้อธิบายความเหมือน/ความต่าง ระหว่างสถาปัตยกรรมประเภทเดียวกัน ร่วมวัฒนธรรมที่
คล้ายคลึงกัน แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างกัน อันเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศ ความเชื่อท้องถิ่นเรื่องการปลูก
เรือน ตลอดจนอิทธิพลทางศิลปะในการประดับตกแต่งอาคาร บทความซึ่งคัดมาจากวิทยานิพนธ์ระดับ
ปริญญาโท ในหลักสูตรประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สถาปัตยกรรมของชาวปะโอ
เป็นที่รู้จักในวงวิชาการ ต่างไปจากที่ผ่าน ๆ มาที่มักมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรมปะโอ
กับสถาปัตยกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์พม่าและไทใหญ่
หากกล่าวว่า จองวัดปะโอ คือผลผลิตทางวัฒนธรรมของอุตสาหกรรมไม้สักในภาคเหนือของไทย
หลังจากอังกฤษเข้ายึดพม่า โรงสีข้าวศิริพัฒน์ จังหวัดพะเยา ในบทความต่อมาของ ภัคธิมา วังยาว ก็ต้อง
ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการผลิตข้าว อันเป็นอุตสาหกรรมที่เฟื้องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจากที่นโยบายกีดกันชาวต่างชาติในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมถูกยกเลิกไป ในบทความนี้ภัคธิมา
ศึกษาโรงสีข้าวซึ่งจัดเป็นอาคารประเภทโรงงานอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งที่ไม่ค่อยมีผู้สนใจศึกษามากนัก
โดยสำรวจเก็บข้อมูลทางกายภาพของอาคาร ตลอดจนสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนที่เคยมีประสบการณ์กับ
โรงสีข้าวแห่งนี้ในยุคที่ธุรกิจการค้าขายข้าวในชุมชนหนองระบูยังคงเฟื่องฟู ผลจากการศึกษาในครั้งนี้จะ
ช่วยปูทางการศึกษาอาคารเนื่องในอุตสาหกรรมข้าวในมิติที่ลึกซึ้งขึ้นต่อไป
บทความที่สาม เรื่อง “เมืองนครราชสีมา: การศึกษาเมืองเก่าผ่านประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน
และมรดกทางสถาปัตยกรรม” โดย รังสิมา กุลพัฒน์, จิตรมณี ดีอุดมจันทร์ และ มาริสา หิรัญตียะกุล
ผู้เขียนบทความได้เริ่มด้วยการปูพื้นทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองและชุมชนนครราชสีมา ว่ามีการ
สร้างซ้อนทับหลายยุคตั้งแต่สมัยอารยธรรมเขมรเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับกายภาพของเมือง บทความ
ได้สำรวจอาคารบ้านเรือนในเขตพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา (ตามประกาศเขตเมืองเก่านครราชสีมาเมื่อเดือน
เมษายน พ.ศ. 2559) ได้แก่ เรือนเจ้าเมือง เรือนพักข้าราชการสมัยมณฑลนครราชสีมา ตึกชิโน-โคโลเนียล
ของชาวจีนโพ้นทะเล โดยบทความเสนอว่าร่องรอยทางสถาปัตยกรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่นี้สามารถใช้
เป็นแหล่งเรียนรู้ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตให้กับชนรุ่นหลัง จึงสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้
เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเมืองเก่า นอกจากนี้บทความยังเสนอการเรียนรู้เมืองเก่าด้วย “การเดิน
เมือง” อันเป็นการสร้างประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “คน” และ “เมือง” และระหว่างคนด้วย
กันเองในสภาพแวดล้อมเมืองเก่าเพื่อสร้างสำนึกทางอัตลักษณ์ร่วมกัน
6 | หน้าจั่ว ฉ. 16  2562
บทความที่สี่ ยังคงเป็นการศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่มุ่งศึกษาถึงความเป็นมาและ
การสร้างสรรค์ของอาคารเพียงหลังเดียว คือ อุโบสถวัดศาลาลอย โดย ภารณี อินทร์เล็ก เสนอให้พิจารณา
อุโบสถวัดศาลาลอยที่ออกแบบโดย วิโรฒ ศรีสุโร ในฐานะอาคารทางพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากกระแส
นิยมสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ทำให้รูปแบบของอุโบสถหลังนี้แตกต่างไปจากพุทธสถาปัตยกรรมไทยแบบ
จารีตอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้ว่าจะยังคงแนวคิดเรื่องการก้าวข้ามวัฏสงสารด้วยการสร้างโบสถ์ให้มีจินตภาพ
เป็นดั่งเรืออยู่ก็ตาม ภารณีกล่าวว่าความเป็นสมัยใหม่ของอุโบสถหลังนี้สามารถพิจารณาได้จากการลดทอน
รายละเอียดการทำเครื่องประดับอาคาร การใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นจากอุตสาหกรรมในท้องถิ่นอย่างกระเบื้อง
ดินเผา และการละเว้นซึ่งงานจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ คงเหลือเพียงภาพเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก
ที่ประตูทางเข้าด้านหน้าที่ทำจากทองแดงดุนรมดำ ผู้เขียนบทความเสนอว่าการฉีกออกไปจากรูปแบบทาง
สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบจารีตของพระอุโบสถหลังนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
ที่ผู้ออกแบบได้รับการบ่มเพาะมาจากการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ไม่ใช่การสืบทอดตามระบบสกุลช่าง
เช่นในอดีต
บทความต่อมา เรื่อง “หลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์: การผสมผสานแนวคิดจารีตและแนวคิด
สมัยใหม่ในงานศิลปะและสถาปัตยกรรมหลักเมือง ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475”
โดย สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล นำเสนอการศึกษาหลักเมืองนครเพชรบูรณ์ภายใต้บริบทของสงครามมหา
เอเชียบูรพา ที่มีแนวคิดในการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปยังเพชรบูรณ์ ระหว่าง พ.ศ. 2486-2487
ตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สวรรค์เสนอว่าการออกแบบหลักเมืองหลวงขึ้นใหม่ในครั้งนี้
ปรากฏแนวคิดสมัยใหม่ที่สามารถพิจารณาจาก เทคนิคการก่อสร้าง รูปแบบรูปทรง และการแสดงออก
ทางศิลปะของเสาหลักเมือง ขณะเดียวกันการประดิษฐานหลักเมืองไว้ในอาคารที่ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลาง
วงเวียนให้เป็นจุดหมายตาก็สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญกับหลักเมืองในฐานะ “ศูนย์กลางแห่งความ
เจริญก้าวหน้าทั้งปวง” อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ตามการยังคงไว้ซึ่งคติและพิธีกรรมการตั้ง
เสาหลักเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคลตามแบบแผนประเพณีที่สืบกันมาแต่โบราณ ก็ชี้ให้เห็นว่าการออกแบบ
หลักเมืองหลวงใหม่ในครั้งนี้มิใช่การละทิ้งซึ่งประเพณีนิยมไปโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการพยายามผสมผสาน
ระหว่าง “ความเป็นจารีต” อันแสดงออกผ่านคติและพิธีกรรมในการตั้งเสาหลักเมือง และ “ความเป็น
สมัยใหม่” ในเชิง ที่ตั้ง รูปแบบ เทคนิคการก่อสร้างและศิลปะการประดับประดา
บทความสุดท้ายในหน้าจั่วฉบับนี้ปิดท้ายด้วยโครงการ ที่หากพิจารณาในแง่เวลาแล้วเป็น
ประวัติศาสตร์ใกล้ตัวที่สุด เกี่ยวกับการดำเนินงานในโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ที่ดำเนินการโดย
ความร่วมมือระหว่างกรมธนารักษ์และเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ที่มีรายได้ต่ำ บทความโดย
ศิฬินภา ศิริสานต์, กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์ และ พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ นำเสนอการติดตามผลการ
ดำเนินงานในโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี โดยมุ่งศึกษาโครงการ พบ.261
เนื่องจากเป็นโครงการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อคนมีรายได้น้อยเพียงแห่งเดียวในบรรดา 6 โครงการทั้งหมด
ที่ได้ดำเนินการสร้างขึ้นจริง ผลการศึกษาพบว่าการดำเนินงานประสบความล้มเหลวทั้งในเชิงปริมาณและ
หน้าจั่ว ฉ. 16  2562 | 7
คุณภาพ ในเชิงปริมาณคือโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาประหยัดสร้างขึ้นจริงในจำนวนที่น้อยมากเมื่อ
เทียบกับที่วางแผนไว้ คือสำเร็จเพียง 43 หน่วย จากแผนที่ตั้งไว้ทั้งหมด 2,357 หน่วย ในเชิงคุณภาพพบว่า
ผลการดำเนินงานไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์โครงการตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดการประชาสัมพันธ์
ให้ประชาชนเข้าใจในสิทธิประโยชน์การเช่าซื้อ, ยอดผู้เข้าจองในโครงการไม่ถึงตามเป้า, การสละสิทธ์
การจอง, หน่วยที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้วแต่ขายไม่หมดจนไม่สามารถดำเนินโครงการในระยะต่อไปได้
ตลอดจนการออกแบบวางผังบ้านในโครงการที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ (อันสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบสถาปัตยกรรม) โดยบทความได้วิเคราะห์สาเหตุความ
ล้มเหลวในการดำเนินงานโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ว่าเกิดจากการขาดการศึกษาความเป็นไปได้
ตามทฤษฎีพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ความล้มเหลวในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนชั้นดีสำหรับการดำเนินการใน
โครงการลักษณะเดียวกันต่อไป หากผู้รับผิดชอบสนใจที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
การดำเนินการจัดทำวารสาร หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย
ในครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงไปได้ก็เพราะความร่วมมือจากกองบรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ และ
ผู้เขียนบทความทุกท่าน ในฐานะบรรณาธิการ ผมจึงขอแสดงความขอบคุณมาอย่างจริงใจ ณ โอกาสนี้
พินัย สิริเกียรติกุล
มิถุนายน 2562

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

Section
บทบรรณาธิการ