การใช้แผ่นปิดหน้าอกที่มีส่วนประกอบของลูกซัดในการเพิ่มน้ำนมและคุณภาพชีวิตของมารดาให้นมบุตร
คำสำคัญ:
น้ำนม, ลูกซัด, ประสิทธิภาพและความปลอดภัยบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และผลของการใช้แผ่นปิดหน้าอกที่มีส่วนประกอบของลูกซัดในการเพิ่มน้ำนมและคุณภาพชีวิตของอาสาสมัครซึ่งเป็นมารดาที่ให้นมบุตร โดยการศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบทดลองทางคลินิกแบบปิดบังทางเดียว เปรียบเทียบปริมาณน้ำนมรวมถึงคุณภาพชีวิตก่อนและหลังได้รับแผ่นปิดหน้าอกในหญิงให้นมบุตร โดยอาสาสมัครต้องปิดแผ่นปิดหน้าอกนาน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้งติดต่อกัน 2 สัปดาห์ บันทึกปริมาณน้ำนมระหว่างการใช้ปิดแผ่นปิดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ผลการศึกษาพบว่าเมื่ออาสาสมัครใช้แผ่นปิดหน้าอกดังกล่าว ปริมาณน้ำนมหลังจากการใช้ทั้งหมด 6 ครั้งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับก่อนใช้ (180.00 ± 315.00 มิลลิลิตร VS 420.00 ± 465.00 มิลลิลิตร; p = 0.006) และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ใด ๆ ในส่วนคุณภาพชีวิตซึ่งทดสอบโดยใช้เครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF-THAI) พบว่า คุณภาพชีวิตของอาสาสมัครหลังได้รับแผ่นปิดหน้าอกกระตุ้นน้ำนมโดยรวมดีขึ้น (89.2 ± 4.7) เปรียบเทียบกับก่อนได้รับแผ่นปิดหน้าอกดังกล่าว (98.6 ± 5.1) จึงอาจสรุปได้ว่าแผ่นปิดหน้าอกที่มีส่วนประกอบของลูกซัดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้กระตุ้นน้ำนมของหญิงให้นมบุตร อีกทั้งยังส่งผลให้คุณภาพชีวิตของอาสาสมัครดีขึ้นอีกด้วย