ชุมชนกับการพัฒนาการเมืองไทย ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

ผู้แต่ง

  • อัญธิษฐา อักษรศรี -
  • วันชัย แสงสุวรรณ

คำสำคัญ:

การพัฒนา, การเมืองไทย, ชุมชน อำเภอกระทุ่มแบน

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง ชุมชนกับการพัฒนาการเมืองไทย ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการเมือง ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 2. เพื่อศึกษาองค์ความรู้ในการพัฒนาการเมืองไทย ในเขต อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 3. เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการพัฒนาการเมืองไทย ในเขตอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ (ผู้นำชุมชน) คณะกรรมการชุมชนตำบลละ 1 คน จำนวน 10 คน และสมาชิกชุมชน ตำบลละ 4 คน จำนวน 40 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน

  1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพปัญหาการเมืองในพื้นที่ศึกษา พบว่า สามารถจำแนกประเภทของปัญหาทางการเมืองในชุมชนได้ดังนี้ 1. ด้านการปฎิรูปการเมือง ประสบปัญหาในเรื่องของการณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง การทุจริตซื้อสิทธิ์ขายเสียง 2. ด้านการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ประสบปัญหาในเรื่องของ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม

2. แนวทางในการพัฒนาการเมืองไทย ผ่านการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม พบว่า 1. ด้านการปฏิรูปทางการเมือง การเมืองท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ จะต้องเป็นระบบการเมืองที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะ “การเมืองเป็นสมบัติของประชาชน” เนื่องจากการที่รัฐเปิดเผย โปร่งใส ทำให้ประชาชนสามารถร่วมกันตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือการใช้งบประมาณในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความสามารถของระบบการเมืองที่ดี และสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย 2. ด้านการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย การส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วมในระดับชุมชนยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ การให้ประชาชนได้มีกิจกรรมร่วมกัน อาจจะจัดเป็นรูปแบบของโครงการ เช่น Big Cleaning Day, โครงการพัฒนาชุมชน ในมิติต่างๆ, แก้ปัญหายาเสพติด เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้ทำความรู้จัก พูดคุย ศึกษาบทบาท พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเป็นการติดตามตรวจสอบภาคปฏิบัติไปในตัว และยังเป็นการให้ประชาชนได้แสดงบทบาท และความสามารถ (Empower) ของตนในการร่วมกัน

แก้ปัญหาของชุมชนซึ่งเป็นระดับสังคม เพื่อพัฒนาไปสู่ความร่วมมือในระดับชาติ 3. ด้านการพัฒนาระบบการศึกษา การศึกษานับเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทุกอย่าง ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับประเทศ ชุมชนที่ดีจะต้องมีบุคลากรที่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลเป็นอันดับแรก และเมื่อศักยภาพของบุคคลพร้อม การพัฒนาการเมืองไทยก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. กระบวนการพัฒนาการเมืองไทย พบว่า 1. ด้านการปฏิรูปทางการเมือง ชุมชนต้องร่วมกันพัฒนาการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรืออำนาจในการบริหารท้องถิ่นได้อย่างเต็มความสามรถ ต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมผู้กระทำความดี และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำการทุจริต 2. ด้านการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ส่งเสริมความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ ให้เกิดขึ้นในชุมชน ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ทั้งแบบออฟไลน์ และออนไลน์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด เพราะเป็นหัวใจหลักของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย 3. ด้านการพัฒนาระบบการศึกษา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนให้เข้มแข็ง โดยการบูรณาการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมความรู้ตามระบอบประชาธิปไตยโดยผ่านการเรียนการสอนทั้งภายในห้องเรียน และนอกห้องเรียน หรือผ่านกิจกรรม โดยให้สภาเด็กและเยาวชนเป็นแกนนำในการรณรงค์ สนับสนุนทุนการศึกษาตลอดจนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส – 2019 เพื่อไม่ให้มีเด็กและเยาวชนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจในระดับชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการศึกษาต่อไป

References

วชิระ เสระทอง และคณะ. (2562). การพัฒนาประชาธิปไตยสำหรับเยาวชนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาสังกัดสานักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. การประชุมวิชาการระดับชาติด้านการบริหารกิจการสาธารณะยุคดิจิทัล ครั้งที่ 5 (The Third National Conference on Public Affairs Management in the Digital Era).

ศุภรัตน์ รัตนมุขย์ และยงยุทธ พึ่งวงศ์ญาติ. (2554). ความสามารถ ในการพัฒนาประชาธิปไตยระดับหมู่บ้านในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ศึกษาเฉพาะกรณี บทบาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน. กองการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สถาบันพระปกเกล้า. สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง. (2553). ประชาธิปไตยชุมชน : กลไกขับเคลื่อนภาคพลเมืองเข้มแข็ง. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.

สมนึก ปัญญาสิงห์. (2558). การพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยชุมชน: กรณีศึกษา ตำบลนาชุมแสง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น. วิทยานิพนธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-30