Publication Ethics

มาตรฐานทางจริยธรรมการตีพิมพ์ของวารสารบัณฑิตศาส์น มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  สาขามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์

มีขอบเขตดังนี้

บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการจะต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาบทความทุกบทความโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้เขียนบทความทั้งในด้านเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้เขียนบทความ
  2. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ ไม่นำบทความในวารสารไปใช้ประโยชน์ทางด้านธุรกิจหรือนำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง
  3. บรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลประเมินของผู้ประเมินบทความ รวมถึงไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ
  4. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด
  5. บรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยอยู่เสมอ
  6. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร โดยคัดเลือกผลงานที่ผ่านการประเมินจากผู้ประเมินบทความที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ รวมถึงผลงานต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร
  7. บรรณาธิการจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาของการประเมินบทความ

บทบาทหน้าที่ของผู้เขียนบทความ

  1. ผลงานของผู้เขียนบทความต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อพิจารณาเผยแพร่ในวารสารอื่น
  2. ผู้เขียนบทความต้องไม่คัดลอกผลงานผู้อื่น และต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอหรืออ้างอิงในเนื้อหาบทความของตนเอง
  3. ข้อมูลที่นำเสนอในผลงานต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการศึกษาวิจัย ผู้เขียนบทความต้องไม่บิดเบือน ปลอมแปลง หรือนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ
  4. ผู้เขียนบทความจะต้องจัดทำต้นฉบับของบทความตาม “คำแนะนำสำหรับผู้เขียน” และกระทำตามขั้นตอนของวารสาร เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของเนื้อหาที่ได้นำมาตีพิมพ์เผยแพร่
  5. ผู้เขียนบทความจะต้องแก้ไขบทความตามผลการประเมินจากผู้ประเมินบทความและกองบรรณาธิการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และปฏิบัติตามกระบวนการประเมิน ปราศจากอคติและความคิดเห็นส่วนตัวมาร่วมเป็นเกณฑ์ในการประเมินบทความ
  2. ผู้ประเมินบทความจะต้องพิจารณาคุณภาพจากความถูกต้องตามหลักวิชาการการวิจัย ความทันสมัย และความชัดเจนของเนื้อหาในบทความ รวมถึงคุณภาพงานวิจัยและงานวิชาการ
  3. เมื่อผู้ประเมินบทความพบว่า มีส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความที่มีความเหมือนกัน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
  4. ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  5. ผู้ประเมินบทความต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ กับผู้เขียนบทความ เช่น การรู้จักกันเป็นการส่วนตัว เป็นผู้ร่วมโครงงาน ผู้ร่วมงาน หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ
  6. ผู้ประเมินบทความต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง