นาฏยประดิษฐ์วิจัยการรำ ชุดภารดานารีทรงเครื่อง

ผู้แต่ง

  • ศรายุทธ รัตนภูมิ -
  • สุภาวดี โพธิเวชกุล

คำสำคัญ:

ลงสรง, ภารดานารีทรงเครื่อง, นาฏยประดิษฐ์

บทคัดย่อ

นาฏยประดิษฐ์วิจัยการรำ ชุดภารดานารีทรงเครื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์การแสดงรำลงสรงกลุ่มที่มีตัวละครฝ่ายพระและฝ่ายนางลงสรงพร้อมกัน โดยอาศัยแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานแบบนาฏยจารีตด้านการรำลงสรงในการแสดงละครรำของตัวพระและตัวนางผนวกกับการรำแบบระบำ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ สังเกตการณ์ จากวีดีทัศน์ เทปบันทึกการแสดงผลการวิจัยพบว่า  นาฏยประดิษฐ์ชุด ภารดานารีทรงเครื่อง เป็นการรำลงสรงกลุ่มของตัวละคร 4 คน (พระ 1 คนและนาง 3 คน)  การออกแบบองค์ประกอบการแสดง ประกอบด้วยบทร้องใช้บทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาในรัชกาลที่2 ตอนอิเหนาพา 3 นางชมสวนเมืองหมันหยาช่วงทรงเครื่องจำนวน 4 บท และประพันธ์บทเพิ่มเติม 2 บท เพลงในช่วงเปิดตัวใช้เพลงเสมอ เพลงแขกอาหวัง 2 ชั้น ช่วงการรำลงสรงใช้เพลงลงสรงโทน และช่วงท้ายใช้เพลงแขกกุลิต แต่งกายยืนเครื่องพระ - นาง แบบกรมศิลปากร มีอุปกรณ์ประกอบการแสดง คือ เตียง โต๊ะวางเครื่องพระสำอางสำหรับทรงสุคนธ์ พระฉายและพัดด้ามจิ้ว การออกแบบท่ารำในช่วงแรกแบ่งกระบวนท่ารำเป็น  2 ส่วน คือ การรำออกด้วยเพลงเสมอ การรำตีบทแนะนำตัวละครก่อนเข้าที่ลงสรง ช่วงกลาง เป็นการรำตีบทบรรยายการลงสรงทรงเครื่องของตัวพระและตัวนางประกอบด้วย ท่ารำของตัวนางร่วมตีบทเพื่อขยายความหมายท่ารำตามคำร้องของตัวพระ ท่ารำของตัวพระตีบทร่วมและขยายความหมายท่ารำตามบทร้องของตัวนาง  ท่ารำตัวละครพระและนางปฏิบัติท่าเดียวกัน  การออกแบบท่ารำตัวละครพระและตัวละครนางปฏิบัติแตกต่างและวิธีการรำต่อตัว ช่วงท้ายเป็นการรำเข้าฉากในรูปแบบของระบำโดยใช้พัดด้ามจิ้วด้วยลีลาการรำที่สื่อความหมายระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ท่ารำเกี้ยวท่ารำอื่น ๆ ออกแบบการแปรแถวและการเคลื่อนที่ จากบทร้อง การจัดกลุ่ม เคลื่อนที่ด้วยวิธีการแตะเท้า ซอยเท้า การก้าวและการเล่นเท้า การหมุนในทิศทางเดียวกันและการหมุนทิศทางต่างกัน

References

วรรณพินี สุขสม, (2545). ลงสรงโทน : กระบวนท่ารำในการแสดงละครในเรื่องอิเหนา.

วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาชาวิชานาฏยศิลป์ไทย บัณฑฺตวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิเชียร เกษปทุม, (2553). เล่าเรื่องอิเหนา. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-30