Archives - Page 2

  • January - June
    No. 1 (2019)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 ฉบับนี้ได้ตีพิมพ์บทความ จำนวน 3 เรื่อง เป็นบทความวิจัย 2 เรื่อง และบทความวิชาการ 1 เรื่อง โดย บทความวิจัย เรื่อง “การสร้างรูปแบบกระบวนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระหว่างฝ่ายปกครองกับผู้สูงอายุ: กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์” เป็นบทความวิจัยเชิงผสมผสานระหว่างบทความวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณที่ผู้เขียนอาศัยกรอบทฤษฎีในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบาย และกฎหมาย เพื่อค้นหากระบวนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ได้ตัวแบบของกระบวนการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ และทิศทางของการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม สำหรับบทความ เรื่อง “การศึกษาความรู้ความเข้าใจเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นบทความที่ผู้เขียนได้ใช้ข้อมูลจากเอกสารงานวิจัย แบบสอบถาม การอภิปรายกลุ่ม และสัมภาษณ์เชิงลึกจากบุคคลที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะทั้งภาครัฐและเอกชนในการวิเคราะห์ความรู้ความเข้าใจของประชาชน ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค และได้วิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาการบุกรุกดังกล่าว เพื่อหาแนวทางการการแก้ไขปัญหาและให้เกิดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการภาครัฐ และเพื่อให้ได้รูปแบบข้อบัญญัติท้องถิ่นในการบริหารจัดการปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง ส่วนบทความวิชาการ เรื่อง “ศึกษาเปรียบเทียบความร่วมมือและการยุบรวมท้องถิ่นในต่างประเทศ: แนวทางการพัฒนาท้องถิ่นในประเทศไทย”
    ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อเปรียบเทียบเกี่ยวกับแนวโน้ม ปัจจัย และกลยุทธ์ในการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น ผ่านมาตรการสร้างความร่วมมือและการยุบรวมท้องถิ่นในต่างประเทศ และเพื่อนำบทเรียนมากำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการปฏิรูปโครงสร้างท้องถิ่นไทย
    โดยมีการชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากทั้งญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และเยอรมันว่าล้วนมีประสบการณ์ในการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นโดยผ่านมาตรการยุบรวมท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ดังนั้น กรณีของประเทศไทยจึงมีความเหมาะสมมากกว่าการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระหว่าง
    ท้องถิ่นในรูปแบบนิติบุคคล

    นอกจากนี้ วารสารฯ ฉบับนี้ยังมีคอลัมน์ประจำที่ชื่อว่า “เปิดแฟ้มเรื่องร้องเรียน” เป็นการนำเสนอเรื่องร้องเรียนทั้งเชิงระบบและรายกรณีที่น่าสนใจ อีก 3 เรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับปัญหาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต, ผู้ตรวจการแผ่นดินทวงคืนพื้นที่โบราณสถาน และ ผู้ตรวจการแผ่นดินกับการจัดการปัญหาขยะมูลฝอย

    บทความวิจัยและบทความวิชาการข้างต้นได้ผ่านการอ่านประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญ กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วารสาร
    ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านโดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ ในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผู้ตรวจการ
    แผ่นดินและการบริหารจัดการภาครัฐได้เป็นอย่างดี

    กองบรรณาธิการ

  • July - December
    No. 2 (2018)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 ฉบับนี้ได้ตีพิมพ์บทความทางวิชาการในรูปแบบภาษาอังกฤษและจัดแปลเป็นภาษาไทย
    เรื่อง “Rethinking the Role of the Human Rights Ombudsman in the State Political System : Analysis through the Case of Uzbekistan” (การทบทวนบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินด้านสิทธิมนุษยชนในระบบการเมืองของประเทศ : บทวิเคราะห์
    ผ่านกรณีศึกษาของสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน) ที่นำเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดบทบาทใหม่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในระบบการเมืองของสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน พร้อมทัศนะในการปรับบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินจากเดิมที่เน้นหลักนิติธรรมมาเป็นการใช้หลักสิทธิมนุษยชนเต็มรูปแบบแทน ผ่านกรณีศึกษาของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ต่อมา คือบทความ เรื่อง “บทบาทหน้าที่ และกลไกขององค์การภาครัฐและภาคประชาสังคมต่อการต่อต้านและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน ของประเทศญี่ปุ่น” เป็นบทความวิจัยที่สะท้อนถึงบทบาท หน้าที่ กลไก และกฎหมายที่เกี่ยวข้องขององค์การต่อต้านและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน ของประเทศญี่ปุ่น
    และ บทความเกี่ยวกับการบริหารราชการในระดับท้องถิ่น จำนวน 2 บทความ คือ เรื่อง “การบริหารจัดการอุทกภัย กรณีศึกษาเปรียบเทียบ : เทศบาลนครปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และตำบลดอนฉิมพลี จังหวัดฉะเชิงเทรา” เป็นการศึกษา
    กระบวนการจัดการอุทกภัยผ่านบทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางนโยบายและผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย
    พร้อมกับการศึกษาถึงความแตกต่างและปัจจัยที่ส่งผลให้การบริหารจัดการภัยพิบัติจากอุทกภัยในพื้นที่การศึกษาประสบผลสำเร็จ
    ส่วนบทความวิจัยอีกเรื่องเป็นการศึกษาแบบผสมผสานวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เรื่อง “รูปแบบภาวะผู้นำและวัฒนธรรมองค์การ
    ที่ส่งอิทธิพลต่อประสิทธิผลองค์การบริหารส่วนจังหวัด : กรณีศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา” เป็นการศึกษาถึงระดับภาวะผู้นำของผู้บริหาร
    ระดับของวัฒนธรรมองค์การ ระดับประสิทธิผลองค์การ เส้นทางอิทธิพลของการพัฒนาขีดความสามารถ และการพัฒนาโมเดลการพัฒนา
    ขีดความสามารถขององค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา

    บทความวิจัยและบทความวิชาการข้างต้นได้ผ่านการอ่านประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ กองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่ง
    ว่า วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ ในการศึกษาค้นคว้าข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดินและการบริหารจัดการภาครัฐได้พอสมควร

    ทั้งนี้ วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการผ่านระบบการจัดการวารสารแบบออนไลน์ หรือ ระบบ Online Journal System (OJS) จึงขอประชาสัมพันธ์และเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านส่งบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความปริทัศน์ หรือบทวิจารณ์หนังสือ ได้ที่ https://www.tci-thaijo.org/index.php/ombudsman ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ombudsman.go.th/ombudsmanstudies (หัวข้อ “วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน”)

  • January - June
    No. 1 (2018)

    บทบรรณาธิการ

    วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินปีที่ 11 ฉบับที่ 1 นี้ ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ได้กรุณามอบคำบรรยายเรื่อง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน: บทบาทใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องจากมุมมองของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้อ่านจะได้ทราบความเป็นมาของผู้ตรวจการแผ่นดิน เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะกำหนดหน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

    กองบรรณาธิการมีความยินดียิ่งที่จะได้แจ้งให้ผู้อ่านวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินทราบว่า วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังปรับปรุงพัฒนาให้วารสารสามารถเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ ที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ โดยในฉบับนี้ท่านผู้อ่านจะเห็นลักษณะการอ้างอิงในบรรณานุกรม ที่ดูแปลกตา เนื่องจากเป็นการอ้างอิงตามที่ Asian Citation Index กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหา รูปแบบและคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย กองบรรณาธิการขอขอบคุณท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้ให้ความกรุณาเขียนบทความที่มีคุณค่าทางวิชาการที่ปรากฏอยู่ในวารสาร เล่มนี้ และพร้อมรับคำแนะนำ หรือข้อติชมจากผู้อ่านเพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพของวารสารให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

  • July - December
    No. 2 (2017)

    บทบรรณาธิการ 

    เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้มีการบัญญัติสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชน กำหนดหลักความคุ้มครองและหลักประกัน ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ที่หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาค โดยไม่เลือกปฏิบัติ การกำหนดแนวนโยบาย แห่งรัฐ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม เพื่อความสงบสุขของประเทศไทยในวันข้างหน้า

    สาระของวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับนี้มีความสอดคล้องกับหลักการตามเจตนารมณ์ข้างต้น จะเห็นได้จากบทความวิชาการทรงคุณค่าหลายเรื่อง ประกอบด้วย “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560: มองผ่านพาราไดม์ทางรัฐประศาสนศาสตร์” โดย ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ยาวะประภาษ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ศิริประกอบ เรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยใช้หลักเกณฑ์ ความรับผิดชอบต่อสังคม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พฤกษา เครือแสง และ นางสาวมณีรัตน์ จันทร์หนิ้ว เรื่อง “กลไกเชิงสถาบันในการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. โสภารัตน์ จารุสมบัติ เป็นต้น ที่กองบรรณาธิการเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ กับท่านผู้อ่านในการพัฒนาองค์ความรู้และแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติต่อไป กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินขอขอบคุณท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้กรุณาสละเวลาเพื่อเขียนบทความที่ปรากฏข้างต้น

    เช่นเดียวกับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรัฐ ปรับปรุงกฎหมาย ที่ล้าสมัย คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน อย่างเต็มความสามารถด้วยคุณธรรม จริยธรรมและไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการต่อไป

     

  • January - June
    No. 1 (2017)

    บทบรรณาธิการ

    เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เวลา 15.00 น.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ลงวันที่ 1 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในประวัติการเมือง 85 ปีของประเทศไทย และเป็นที่น่ายินดียิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังคงอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในการตรวจสอบอำนาจัฐ โดยการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ซึ่งหมายถึงผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน อย่างเต็มความสามารถด้วยคุณธรรมและไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน

    จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว กองบรรณาธิการมีความเชื่อมั่นว่าความหลากหลาย เนื้อหาและสาระของวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่าน เพราะบทความวิชาการที่กองบรรณาธิการได้คัดสรร กลั่นกรอง ตัดเลือกเพื่อลงพิมพ์ในวารสาร และหากองค์ความรู้เหล่านี้จะช่วยต่อยอดการพัฒนานิติรัฐ นิติธรรม ในประเทศไทยได้ พร้อมทั้งแนวคิดที่เป็นประโยชน์จะได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติต่อไป วารสารฉบบับนี้มีบทความวิชาการเรื่อง “บทบาทของเจ้าพนักงานคดีในกระบวนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551” โดย ธันยพร พงศ์กระพันธ์ และ “การติดตามประเมินผล และสังเคราะห์องค์ความรู้โครงการโรงเรียนคุณธรรมในสังกัดกรุงเทพมหานคร” โดย ปัญญเดช พันธุวัฒน์ และขอขอบคุณท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้ให้ความกรุณาเขียนบทความที่มีคุณค่าทางวิชาการที่ปรากฏอยู่ในวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินตลอดมา

    กองบรรณาธิการจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการจัดทำวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

11-15 of 15