Archives

  • วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 17 ฉบับที่ 1

    (January - June)
    No. 1 (2024)

    Editor Note

              วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 เปิดเล่มแรกของ พ.ศ. 2567 ด้วยบทความพิเศษจาก ดร. สุขยืน เทพทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์ การวิจัย การพัฒนาองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ นำเสนอบทความ เรื่อง “แนวทางการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เพื่อการช่วยเหลือประชาชน ตามบทบาท หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน” โดยได้นำ AI มาเป็นตัวช่วยในกระบวนการนิพนธ์บทความ ประกอบด้วย Consensus ในการสืบค้นข้อมูลจาก Sematic Scholar การใช้ ChatGPT และ Claude ในการเรียบเรียงข้อความ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมของการนำเสนอบทความรูปแบบใหม่ที่แพร่หลายในปัจจุบัน

    ภายในเล่มยังมีบทความวิจัยและบทความวิชาการที่ผ่านการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในรูปแบบ Double Blinded จำนวน 5 บทความ ประกอบด้วย บทความวิชาการ 3 บทความ ได้แก่ (1) “การประเมินแนวทางการสร้างเครือข่ายผ่านกิจกรรมความร่วมมือการสร้างความเป็นธรรมในหน่วยงานภาครัฐของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน : กรณีศึกษาเครือข่ายกำนันและผู้ใหญ่บ้านจังหวัดนนทบุรี” (2) “แนวทางในการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการลาคลอดของลูกจ้างหญิง” (3) “อิทธิพลของวัฒนธรรมทางการเมืองกับการจัดทำบริการสาธารณะโดยองค์การมหาชนในประเทศไทย” และ บทความวิจัย 2 บทความ ดังนี้ (1) “การติดตามและประเมินการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเป็นมิตรสำหรับเด็กและเยาวชนในสถานควบคุม” และ (2) “การศึกษาแนวทางในการพัฒนาโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด : กรณีศึกษาจังหวัดสมุทรปราการ”

    สำหรับคอลัมน์ประจำ “ท่านทราบหรือไม่” ฉบับนี้เสนอเรื่อง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เร่งประสานออกหนังสือก่อสร้างทางข้ามทางน้ำสาธารณะเพื่อใช้เป็นทางเข้า – ออก ของที่พักอาศัยประชาชน” และปิดท้ายด้วย “เล่าเรื่องด้วยภาพ” ด้วยการนำเสนอภาพกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินขอแจ้งเปลี่ยนแปลงการเขียนบรรณานุกรมจากรูปแบบ APA - Foreign Language มาเป็นรูปแบบ APA (ภาษาไทย / ภาษาอังกฤษ) โดยเริ่มตั้งแต่ วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 เป็นต้นไป ท่านสามารถศึกษาวิธีการเขียนใน “ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน”

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน

  • July-December
    No. 2 (2023)

    Editor Note

    วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยบทความพิเศษ 2 บทความ คือ เรื่อง “ผู้ตรวจการแผ่นดินกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” โดยประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต) และบทความ เรื่อง “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาสวีเดน” ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ของประเทศที่เป็นปฐมบทของผู้ตรวจการแผ่นดินในโลก

     จากนั้นเป็นบทความวิชาการและบทความวิจัยที่ผ่านการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพ รูปแบบ Double Blinded ทั้งหมด จำนวน 6 บทความ ประกอบด้วย บทความวิชาการ 5 บทความ ได้แก่ (1) “พัฒนากฎหมายองค์การมหาชนภายใต้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” (2) “บทบาทของรัฐในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง: รัฐที่นำการพัฒนา ความท้าทาย และเศรษฐกิจหมุนเวียน” (3) “ภาษีมรดกกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” (4) “บทบาทขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการรักษาวินัยทางการคลัง : ศึกษากรณีการใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและคณะกรรมการการเลือกตั้ง” (5) “แนวทางการนำหลักประกันการจ่ายค่าชดเชยใช้ในประเทศไทย” และบทความวิจัย 1 บทความ คือ “การจัดการตนเองของชุมชน : ศึกษากรณีป่าชุมชนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี”

    ส่วนคอลัมน์ประจำ “ท่านทราบหรือไม่” ฉบับนี้เสนอเรื่อง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน ย้ำ !!! การแก้ไขปัญหาถือครองที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลาน ยึดถือความถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อประชาชน” และปิดเล่มด้วย “เล่าเรื่องด้วยภาพ” ด้วยการนำเสนอภาพกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเช่นเคย

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมสำหรับท่านที่สนใจส่งบทความวิชาการและบทความวิจัยเพื่อพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ใน “วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 17 ฉบับที่ 1” ซึ่งท่านสามารถส่งบทความผ่านระบบรับบทความออนไลน์ ได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์แต่อย่างใด

    สุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขใจสุขกาย พร้อมรับปีงูใหญ่ที่กำลังจะมาถึงนี้

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน

  • January - June
    No. 1 (2023)

    Editor Note

    วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 เปิดเล่มด้วยบทความพิเศษ 3 เรื่อง เริ่มจากการนำท่านเข้าสู่ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ในบทความ “5 ปี หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ประชาชนได้อะไร” ซึ่งเรียบเรียงจากเวทีการเสวนาทางวิชาการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ถัดไปเป็นบทความ เรื่อง “จากหลักปรัชญาพื้นฐานสู่การตรวจการแผ่นดิน” ซึ่งกล่าวถึงเจตนารมณ์ในการก่อตั้งองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินที่สอดรับกับหลักปรัชญา    ตลอดจนนิยามของ การตรวจการแผ่นดินเพื่อสร้างความเป็นธรรมและขจัดความเหลื่อมล้ำให้แก่ประชาชนในสังคม  นอกจากนี้ ยังมีบทความจากองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ เรื่อง “พัฒนาการขั้นต่อไปของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน: การวิเคราะห์เชิงทฤษฎีวิทยาศาสตร์” (A new phase of human rights protection: scientific-theoretical analysis) โดยสำนักเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

    จากนั้นจะเป็นบทความวิชาการและบทความวิจัยที่ผ่านการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพ รูปแบบ Double Blinded ทั้งหมด จำนวน 7 บทความ ประกอบด้วย บทความวิชาการ 3 บทความ ได้แก่ (1) “ความเหมาะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งราชอาณาจักรไทยกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 กรณีศึกษาสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” (2) “การใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการค้นในที่รโหฐานกับความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา” (3) “ระเบียบโลกในโมงยามแห่งความเปลี่ยนแปลง” และบทความวิจัย 4 บทความ ได้แก่ (1) “การประเมินผลสัมฤทธิ์ภารกิจด้านคุณธรรมและความโปร่งใส ITA: กรณีศึกษาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน” (2) "การศึกษาเรื่องรูปแบบการบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กรณีศึกษาศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค กรุงเทพมหานคร โครงการสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย จังหวัดสมุทรปราการ และโครงการ Wellness City จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” (3) “การศึกษาติดตามและประเมินการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในโครงการการพัฒนาระบบการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเฉพาะรายแบบไร้รอยต่อของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน” และ (4) การรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 

    ส่วนคอลัมน์ที่ท่านพลาดไม่ได้ คือ “ท่านทราบหรือไม่” และ “เล่าเรื่องด้วยภาพ” ซึ่งเป็นการนำเสนอภาพกิจกรรมต่าง ๆ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในห้วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566

    สุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมสำหรับท่านที่สนใจส่งบทความวิชาการและบทความวิจัยเพื่อพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ใน “วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 16 ฉบับที่ 2” ซึ่งท่านสามารถส่งบทความผ่านระบบรับบทความออนไลน์ ได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์แต่อย่างใด

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน

  • July-December
    No. 2 (2022)

    Editor Note

    วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 เปิดเล่มด้วยบทความพิเศษ 3 บทความเริ่มด้วยบทความจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต) เรื่อง “ข้อสังเกตและมุมมองจากการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน” และบทความพิเศษอีก 2 บทความ จะเป็นบทความที่นำเสนอโดยองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินต่างประเทศที่มีความร่วมมือระดับทวิภาคีเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ เรื่อง “ระบบการให้คำปรึกษาทางปกครองของประเทศญี่ปุ่น: มิติโดยรวมและลักษณะสำคัญ” (Japan’s Administrative Counseling System: Overview and Features) นำเสนอโดยสำนักการประเมินการบริหาร กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร ประเทศญี่ปุ่น และ เรื่อง “บทบาทขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของกลุ่มคนเปราะบางและหลักนิติธรรม” (The role of the Ombudsman institution in promoting and protecting the rights of vulnerable people and the rule of law) นำเสนอโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

    ถัดไปเป็นบทความวิชาการจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ “ปัจจัยความสำเร็จของประเทศอาร์เจนตินาในการติดตามผู้สูญหายในช่วง The Dirty War” และ “การขอยกเว้นอากรนำเข้าวัสดุอุปกรณ์การศึกษาและวิจัยสำหรับสถาบันการศึกษา” นอกจากนั้น วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้เพิ่มคอลัมน์ “ท่านทราบหรือไม่” นำเสนอ เรื่อง “ครม. รับหลักการเพิ่มประสิทธิประโยชน์เงินชราภาพให้ผู้ประกันตนมากขึ้นตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน” และ “เล่าเรื่องด้วยภาพ” เพื่อนำเสนอภาพกิจกรรมต่าง ๆ ในการช่วยเหลือประชาชนของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินในครึ่งปีหลัง

    สุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการขอประชาสัมพันธ์กิจกรรม Young Ombudsman  Award เพื่อเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน โดยเสนอโครงงานเข้าประกวด ภายใต้แนวคิด “อำนวยความเป็นธรรมและความสะดวกให้แก่ประชาชน” ชิงโล่พระราชทาน  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวง ราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และชิงเงินรางวัลรวมกว่า 180,000 บาท แบ่งผลงานออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. โครงงานด้านการแก้ไขกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือขั้นตอนใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หรือไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน และ 2. ผลงานประเภทโครงงานด้านนวัตกรรม เพื่ออำนวยความเป็นธรรมและความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยสามารถสมัคร ได้ตั้งงแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 0 2141 9383 , 0 2141 9291 และ 0 2141 9242 ในวันและเวลาราชการ หรือตรวจสอบ รายละเอียดและดาวน์โหลดแบบใบสมัครผ่านทาง www.ombudsman.go.th

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน

  •     วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินปีที่ 15 ฉบับที่ 1 เปิดเล่มด้วยบทความพิเศษ เรื่อง “หนทางการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่มีเอกลักษณ์ของจีน” (Path of Combating Corruption with Chinese Characteristics) นำเสนอโดยคณะกรรมการตรวจสอบแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน (The Nation Commission of Supervision: NCS) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินต่างประเทศที่มีความร่วมมือระดับทวิภาคี เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงวิชาการ

    January-June
    No. 1 (2022)

              วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินปีที่ 15 ฉบับที่ 1 เปิดเล่มด้วยบทความพิเศษ เรื่อง “หนทางการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่มีเอกลักษณ์ของจีน” (Path of Combating Corruption with Chinese Characteristics) นำเสนอโดยคณะกรรมการตรวจสอบแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน (The Nation Commission of Supervision: NCS) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินต่างประเทศที่มีความร่วมมือระดับทวิภาคี เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงวิชาการ

              ถัดไปเป็นบทความวิจัยและบทความวิชาการที่ผ่านการคัดกรองและประเมินคุณภาพจาก
    กองบรรณาธิการและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 เรื่อง ประกอบด้วย บทความวิจัย จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ “การบริการสาธารณะสำหรับพลเมืองผู้สูงอายุในพื้นที่เทศบาลเมืองในเขตจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1” และ “มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการปลูกและการใช้กัญชาในครัวเรือน” และบทความวิชาการ จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่
    “บทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้าง” และ “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) กับการป้องกันการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ”

              สำหรับคอลัมน์ประจำ “ท่านทราบหรือไม่” เป็นเรื่อง “รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินใช้แก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลไทย” เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

              นอกจากนี้ กองบรรณาธิการขอประชาสัมพันธ์กิจกรรมการจัดประกวดโครงงานด้านการเสนอแนวคิดการแก้ไขกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือขั้นตอนใด ๆ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “อำนวยความเป็นธรรมและความสะดวกให้แก่ประชาชน” ในชื่อกิจกรรม Young Ombudsman Award เพื่อให้นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับรางวัลและนำไปใช้สนับสนุนภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป โดยกำหนดเปิดรับสมัครและส่งผลงานประมาณเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม 2565 นี้ หากท่านมีความสนใจกิจกรรมดังกล่าว สามารถสอบถามไปยังสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินศึกษา.หมายเลขโทรศัพท์ 02-141-9383 (นางสาวปรมาภรณ์ บุญเขื่อง) 02-141-9242 (นางสาวสุภรณ์ ยิ่งวรการ) ในวันและเวลาราชการ

              กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน

  • July-December
    No. 2 (2021)

    ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต เป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2564  วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินปีที่ 14 ฉบับที่ 2 จึงขอเปิดเล่มด้วยคำแถลงแนวนโยบายของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต)  

    ถัดไปเป็นบทความพิเศษ 2 บทความ บทความแรกเป็นผลการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสสถาน เรื่อง “การพัฒนาบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และสิทธิประโยชน์อันชอบธรรม ภายใต้บริบทของการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง” และบทความที่ 2 เป็นผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่อง “การแก้ไขปัญหาของกระบวนการยุติธรรม กรณีความล่าช้าในการดำเนินคดีและเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการอายัดตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน”

    ส่วนบทความวิจัยและบทความวิชาการจำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ “ประสิทธิผลของการนำมติประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) มาปฏิบัติในประเทศไทย”  “ปัญหาสถานะทางกฎหมายของประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับราชการ”  “บทวิเคราะห์ทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ : กรณีการยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน”  “ลักษณะปกครองท้องที่ : การศึกษาพัฒนาการระเบียบการปกครองท้องที่และหน้าที่รับผิดชอบของข้าราชการสยาม ระหว่าง ค.ศ. 1897-1933 (พ.ศ. 2440-2476)”  และ “การพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลศพแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย”

    นอกจากนั้น วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้เพิ่มคอลัมน์ “ท่านทราบหรือไม่” เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานเรื่องร้องเรียนที่สำคัญและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเรื่องแรกที่นำเสนอคือ “กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมจับมือแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าอย่างผิดกฎหมายตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะ”

    และในวาระดิถีขึ้นปีพุทธศักราชใหม่นี้ กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินขอส่งความปรารถนาดีไปยังผู้อ่านทุกท่าน และขอน้อมนำพรจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพื่อเป็นศิริมงคลใน ปี พ.ศ. 2565 แก่ปวงชนชาวไทย ความว่า

     

    ส.ค.ส. 2565 สวัสดีปีขาลเสือ       “ปีเสือต้องขวนขวายและอดทน”

    อันปีขาลนี่หรือคือปีเสือ             ทำอะไรต้องไม่เบื่อรีบขวนขวาย

    จะมีบททดสอบทั้งใจกาย            อดทนไว้จะสบายกว่าใครใคร

    ถึงโรคภัยไข้เจ็บยังมีอยู่             ถ้าเรารู้การป้องกันก็อยู่ได้

    ใส่หน้ากากอยู่เสมอโรคห่างไกล     มีน้ำใจอารีดียิ่งเอย

     

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน

  • January-June
    No. 1 (2021)

    จากอุบัติการณ์ของ “โคโรนาไวรัส” หรือ “COVID-19” และการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคที่สามารถปรับตัวให้แข็งแกร่งและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ที่เรียกว่า “New Normal” ซึ่งหมายถึง รูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากอดีต อันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติและเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จึงเกิดมาตรการสำคัญที่คนในสังคมต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกเคหะสถาน การเว้นระยะห่างทางสังคม (social
    distancing) การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนการล้างมือบ่อย ๆ และการพกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์

    แม้ว่าคนในสังคมจะต้องปรับตัวตามวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) ในหลากหลายรูปแบบก็ตาม แต่วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินยังคงนำเสนอสาระน่ารู้สู่ท่านผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง โดยในฉบับนี้ท่านจะได้พบกับบทความพิเศษโดยประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต) เรื่อง “ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเชิงระบบของประชาชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมกรณีการเกิดปัญหาข้อพิพาทจากผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม

    นอกจากนั้น ยังมีบทความวิชาการจากผู้นิพนธ์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่

    “การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอำนาจในการวิสามัญฆาตกรรม”

    “จุดต่าง จุดร่วมในบทบาทของผู้ผลักดันนโยบายและนายหน้านโยบาย”

    “หลักนิติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ”  และ

    “รัฐบาลนวัตกรรม: การยอมปรับรับนวัตกรรมในภาครัฐด้วยหลักการบริการสาธารณะใหม่”

    รวมทั้งคอลัมน์ประจำที่ขอนำเสนอบทความที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่อง “ผู้ตรวจการแผ่นดินแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากกรณีมาตรการของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”

    สุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินขอส่งความปรารถนาดีไปยังผู้อ่านทุกท่านในการรับมือกับ COVID-19 และผ่านสถานการณ์นี้ไปพร้อมกันโดยสวัสดิภาพ

  • วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563)

    July-December
    No. 2 (2020)

    บทบรรณาธิการ

    “ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุก ๆ คน ให้มีความสุข ความเจริญ และความสำเร็จสมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา

    ความสุขความเจริญนี้แม้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในวิถีชีวิตของคนเรานั้น ย่อมต้องมีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งความสมหวังและผิดหวัง เป็นปกติธรรมดา ทุกคนจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมการให้พร้อม
    อย่าประมาท ในปีใหม่นี้จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้รักษาและสร้างเสริมสุขภาพของตนให้สมบูรณ์ ให้มีกำลังกาย
    ที่แข็งแรง มีกำลังใจที่เข้มแข็ง หนักแน่น และมีสติรู้เท่าทันอยู่เสมอ จักได้สามารถนำพาตนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ต่าง ๆ อันไม่พึงประสงค์ จนบรรลุถึงความสุขความเจริญและความสำเร็จได้ ดังที่ตั้งใจปรารถนา

    ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน”

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอน้อมนำพรพระราชทานแห่งรัชสมัย รัชกาลที่ 9 พระราชทานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม 2558 ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2559 มอบแด่ทุกท่านเพื่อเป็นมงคลแด่ทุกท่านในเบื้องแรก

    ในวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 นี้ ท่านจะได้อ่านบทความที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากกองบรรณาธิการ และทุกบทความยังได้ผ่านการพิจารณาประเมินคุณภาพด้วยรูปแบบ double blinded จำนวน 4 บทความ ประกอบด้วย บทความวิจัย จำนวน 1 บทความ คือ “แนวทาง
    การจัดการวิสาหกิจชุมชน: ศึกษาเฉพาะกรณีศูนย์สาธิตการเกษตรร้านค้าชุมชน ตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี” และ บทความวิชาการ จำนวน 3 บทความ ดังนี้ “พระภิกษุในพระพุทธศาสนากับการใช้อิทธิพลในทางจิตใจเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน” “การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือวิจัยในการพัฒนากิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม การติดตามผล และทักษะชีวิตของนักเรียนในระยะยาว” และ “ปัญหาและแนวทางแก้ไขกระบวนการชั้นเจ้าพนักงานในการดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความเป็นธรรม”

    วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่สนับสนุนติดตามอ่านบทความอย่างต่อเนื่อง กองบรรณาธิการให้สัญญาที่จะคงความเข้มข้นและจะพัฒนาคุณภาพวารสารต่อไป

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน

  • January-June
    No. 1 (2020)

    บทบรรณาธิการ

    “ไม่ควรทำงานแค่ผ่าน ๆ ไป แต่ควรทำงานที่มีคุณค่าควรแก่การจดจำ” วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน
    ฉบับนี้ ขอพาท่านผู้อ่านเข้าสู่ศักราชใหม่ด้วยคำคมเกี่ยวกับการทำงาน ของ H. Jackson Brown, Jr. ซึ่งเป็นนักเขียนชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ เรื่อง “Life in Little Book” เพื่อเป็นการสร้างแรงใจให้ทุกท่านให้ทำงานด้วยกำลังใจ กำลังกาย จนก่อเกิดประโยชน์แก่ตัวท่านและสังคม

    ในวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับนี้ ท่านผู้อ่านจะได้อ่านบทความพิเศษที่เขียนโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน (นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต) เรื่อง “ผู้ตรวจการแผ่นดินกับการเพิ่มพูนทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบูรณาการช่วยเหลือเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนที่ขาดโอกาสในการเรียนต่อ เพื่อช่วยให้นักเรียนกลุ่มนั้นได้เป็น “แรงงานมีฝีมือ” อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

    นอกจากนี้ ยังมีบทความวิจัย เรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน เกี่ยวกับการควบคุมการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร” และบทความวิชาการ จำนวน 3 เรื่อง คือ “บทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินกับการเสนอความเห็นต่อหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” “แนวทางการพัฒนาการผลิตและการตลาดข้าวไทย” และ “นโยบายการทำงานและการจ้างานผู้สูงอายุ: ข้อสังเกตบางประการ” ซึ่งบทความทั้ง 4 บทความที่ได้กล่าวมานั้น ถือเป็นบทความที่มีเนื้อหาเชิงวิชาการความเข้มข้น ได้รับความสนใจในกระแสสังคมปัจจุบัน

    “วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน” ขอแจ้งผลการประเมินคุณภาพวารสารวิชาการรอบที่ 4 โดยศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารวิชาการไทย (Thai Journal Citation Index Centre-TCI) ซึ่งวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการรับรองคุณภาพจัดเป็นวารสารกลุ่มที่ 2 สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตั้งแต่บัดนี้ถึงปี พ.ศ. 2567 กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่สนับสนุนติดตามอ่านบทความอย่างต่อเนื่อง กองบรรณาธิการให้สัญญาที่จะคงความเข้มข้นและจะพัฒนาคุณภาพวารสารต่อไป

    สุดท้ายนี้ กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภาคภูมิ ฤกขะเมธ ถือเป็นความสูญเสียนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษา และท่านเป็นหนึ่งในผู้ที่มีคุณูปการต่อวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นอย่างมาก ท่านได้อุทิศเวลาร่วมเป็นกองบรรณาธิการ พิจารณา กลั่นกรอง คัดเลือกบทความให้กับวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา การจากไปของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภาคภูมิ ฤกขะเมธ นำมาซึ่งความอาลัยอย่างสุดซึ้ง แต่ความดีที่ท่านได้กระทำไว้ยังคงดำรงอยู่ไม่ได้สูญหายไป

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน

  • July-December
    No. 2 (2019)

    Editor Note

              ที่ผ่านมา วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวม จัดเรียง และเผยแพร่องค์ความรู้ Knowledge Management (KM) ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตลอดจนผลงานวิจัยและผลงานวิชาการจากหลายภาคส่วนที่ได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิมาแล้ว ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาค้นคว้าเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเองหรือพัฒนาองค์กรได้จากวารสารฯ ที่มีการเผยแพร่ไปยังส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานอิสระ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สถาบันการศึกษา และห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

              ในวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินฉบับนี้  ท่านจะได้พบกับบทสัมภาษณ์พิเศษประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์) และผู้ตรวจการแผ่นดินอีก 2 ท่าน ได้แก่ นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ และนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ซึ่งจะมาเปิดใจถึงมุมมองและการปฏิบัติงานในบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตลอดจน “ผลสำเร็จที่จับต้องได้” ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน

              นอกจากนี้ ยังมีบทความวิจัยในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้อ่านหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการนำนโยบายทวงคืนผืนป่าไปปฏิบัติศึกษาพื้นที่ป่าชายเลนภาคกลางในประเทศไทย หรือ ปัญหาทางกฎหมายกรณีมาตรการระงับการเข้าถึงเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้ให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมทั้งบทความวิชาการแบบเจาะลึกถึงทิศทางของสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายไทย และ มุมมองของคนไทยต่อการอพยพเข้าประเทศ

              กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วารสารผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริมภูมิปัญญาของนักวิจัย นักวิชาการ และผู้อ่านทุกท่านได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ขอขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้อง สำหรับการมีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูล กลั่นกรองบทความ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของวารสารผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป

    กองบรรณาธิการวารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน

1-10 of 15