บทบรรณาธิการ
Keywords:
บทบรรณาธิการAbstract
วารสารความเป็นธรรมทางสังคมและความเหลื่อมล้ำฉบับนี้เป็นฉบับท้ายของ พ.ศ. 2564 และเรากำลังก้าวเข้าสู่ปีใหม่กันอีกครั้งหนึ่งกับในธรรมเนียมใหม่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า กว่าสองปีที่เราต้องอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หวาดระแวงและไม่มีความมั่นคง แม้ว่าสถานการณ์ด้านการกระจายวัคซีนเหมือนจะกระเตื้องขึ้น แต่ผลกระทบต่อกลุ่มต่างๆ ในสังคมยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศก็ดูมีชีวิตชีวาไม่ต่างกัน การปะทะทางความคิดของขั้วความเห็น อายุ และเพศ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านเวทีทางสังคม เวทีการเมือง และเวทีวิชาการ ที่กระตุ้นสังคมให้พร้อมคิดและทำไปด้วยกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
ในขณะที่ที่ผ่านมาการเผยแพร่งานทางวิชาการกำลังเผชิญกับความท้าทายของการกำกับทางจริยธรรมหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะแค่การให้ความสำคัญด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ แต่หมายถึงคุณภาพของบทความวิชาการเหล่านั้น รวมไปถึงการฉ้อฉลทางวิชาการผ่านการเขียนบทความเพื่อการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ทางวิชาชีพ แต่นั้นก็ไม่ได้เป็นเหตุอนุโลมให้เกิดความหย่อนยานทางจริยธธรมและความถูกต้องแต่อย่างใด วารสารหวังที่จะเป็นหนึ่งในการแสดงจุดยืนถึงความถูกต้องและไม่เป็นการสร้างแนวปฏิบัติที่นำไปสู่การลดทอนคุณค่าของงานวิชาการ และหวังว่าวงการวิชาการจะช่วยกันก้าวพ้นความท้าทายเหล่านั้นในเร็ววัน
บทความในวารสารฉบับนี้ประกอบด้วยบทความวิชาการและบทความวิจัยสามชิ้น บทความวิชาการชิ้นแรกของปีดิเทพ อยู่ยืนยง เรื่อง “บทบาทของกฎหมายในการส่งเสริมการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชายในประเทศแคนาดา” ที่นำกรณีศึกษาของประเทศแคนนาดามาวิเคราะห์ให้เห็นว่าการให้มุมมองความเท่าเทียมทางเพศจะก่อให้การจัดทำงบประมาณที่ไม่เลือกปฏิบัติ อีกทั้งการเชื่อมโยงบทบาทของกฏหมายในการส่งเสริมให้เกิดการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย หรือ Gender Responsive Budget (GRBs) ได้อย่างไร ซึ่งเป็นภาพที่น่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับรัฐไทยในการกำหนดแนวทางการสร้างความเท่าเทียมระหว่าง
หญิงชายผ่านบทบาททางกฎหมายได้ในอนาคตโดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากโครงสร้างการให้บริการของรัฐและการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน บทความวิจัยชิ้นต่อมาได้บอกเล่าเรื่องราวของคนทำงานในต่างประเทศผ่านบทความภาษาอังกฤษว่าคุณภาพชีวิตหรือชีวิตที่ดีล้วนเป็นความต้องการของคนทำงานไม่ต่างกันทั่วโลก เรื่อง “ทุนทางสังคมกับความมั่นคงในการดำรงชีพของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้านอกระบบใน สปป. ลาว: การวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง” (Social assets and livelihood securities of the informal garment workers in Lao PDR: Using a structural equation model) ของ ฮันเวเดส ดาววิสันต์นักวิชาการลาวที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการในวารสารครั้งนี้ตั้งคำถามว่าทุนทางสังคมส่งผลต่อความมั่นคงในการดำรงชีพของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้านอกระบบใน เวียงจันทร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวหรือไม่ ในกลุ่มแรงงงานห้ากลุ่มคือ แรงงานเครือญาติ แรงงานอิสระ แรงงานรายวัน แรงงานในชุมชน และ แรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผลทางการ ทุนทางสังคม เช่น การสนับสนุนจากครอบครัว การสนับสนุนของชุมชน ความเชื่อใจของคนงาน การมีส่วนร่วมของชุมชน ความสัมพันธ์ของเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างการจ้างงาน ความสัมพันธ์ของครัวเรือน และปฏิสัมพันธ์ของครัวเรือน ล้วนส่งผลต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตทั้งสิ้น บทความสุดท้ายของเล่มนี้สิทธิชุมชนกับความเป็นพื้นที่สาธารณะของฮาเบอร์มาส: เครื่องมือในการต่อรองอำนาจรัฐ (Community Right and Habermas’ Public Sphere: Tool for negotiating state power) ของวาสนา ศรีจำปา ชวนเราถกเถียงในเรื่องของสิทธิชุมชนไม่เฉพาะในประเทศไทยว่าการเกิดขึ้น และดำรงอยู่ของสิทธิในระดับชุมชนที่มักมุ่งไปที่เรื่องการจัดการทรัพยากรกับการต่อรองอำนาจรัฐที่ผ่านมาล้วนมีพื้นฐานจากความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่การสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนที่เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับอำนาจที่ไม่เท่าระหว่างรัฐและชุมชน ซึ่งคำถามหนึ่งที่วาสนาสนใจชวนเราไปถกต่อว่าพื้นที่สาธารณะในการพูดคุยนั้นเป็นไปในทางเดียวกับที่ฮาเบอร์มาสเสนอเกี่ยวกับ “พื้นที่สาธารณะ” ได้อย่างน่าสนใจ
งานปริทัศน์หหนังสือเรื่อง “ประชานิยม: ความรู้ฉบับพกพา” ของ เกษียร เตชะพีระ แปลมาจาก Populism: A Very Short Introductionของ Cas Mudde และ Cristóbal Rovira Kaltwasser นักเศรษฐศาสตร์ ที่ศึกษากระบวนการประชานิยมทั่วโลก อีกทั้งเสนอมมุมมองมิติเพศ หรือมุมมองชาติพันธุ์ในการเมืองให้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นผ่านปรากฎการณ์การเมืองประชานิยมจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในแถบอเมริกา วาตินอเมริกาและยุโรป
สุดท้ายนี้ วารสารยังคงเปิดรับงานวิชาการที่มีคุณค่ารวมไปถึงผลงานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ ที่วารสารกำหนดเพื่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้ในวงวิชาการ สร้างพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างมีคุณค่า พัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และหวังให้เราสามารถก้าวเข้าสู่มาตรฐานวารสารที่ดียิ่งขึ้นต่อไป