บทบรรณาธิการ

Authors

  • Sayamol Charoenratana

Keywords:

บทบรรณาธิการ

Abstract

ในขณะที่วารสารความเป็นธรรมทางสังคมและความเหลื่อมล้ำฉบับที่สองของปี 2565 นี้กำลังออก
สู่สาธารณะเราก็เผชิญหน้ากับเรื่องราวมากมาย การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าที่เหมือนจะจบแต่ก็
ยังไม่จบ   ข่าวการเมืองท้องถิ่นที่เหมือนจะเป็นความหวังของคนกรุงเทพ หรือจะเป็นข่าวใหญ่เมื่อไม่กี่วันก่อนของการเมืองระดับประเทศ ปัญหาอุทกภัยที่กำลังร้อนระอุ ล้วนถาโถมกระแทกชาวไทยเป็นระลอกๆ เช่นเดียวกับความเห็นเชิงวิชาการเรื่องการกู้ยืมของระบบการศึกษาก็เป็นที่ได้ถกแถลง (dialogue) กันอย่างแพร่หลาย

บทความในวารสารฉบับนี้ประกอบด้วยบทความวิจัยที่น่าสนใจหนึ่งชิ้นและบทความวิชาการสองชิ้น ได้แก่ บทความวิจัยภาษาอังกฤษจากนักวิชาการต่างประเทศ เรื่อง “Perceptions and reality of bargaining power among migrants in mobility dependent sectors: The case of Cambodian migrants in fishery and construction (การรับรู้และความเป็นจริงของอำนาจต่อรองของแรงงานข้ามชาติในภาคส่วนที่
ต้องพึ่งพาการเคลื่อนย้าย: กรณีแรงงานข้ามชาติกัมพูชาในการประมงและการก่อสร้าง)” ของ Sary Seng,
Sayamol Charoenratana และ Hart N. Feuer เล่าเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาในธุรกิจประมงและการก่อสร้าง ว่าการขยายตัวของภาคธุรกิจสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศมากขึ้น ร่วมกับการเปิดเสรีทางการย้ายถิ่นในภูมิภาคเอเชียงานได้แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของแรงงานที่ต้องการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นจากการลงทุนในการทำงาน ดูเหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าทำให้สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอำนาจต่อรองของแรงงานจะมีมากขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าวด้วย บทความวิชาการชิ้นต่อมา จันทนา คชประเสริฐ และ ธนะรัชต์ อนุกูล ได้เขียนเรื่อง “ทศวรรษใหม่ในการเรียนดนตรี: ก้าวไปด้วยความเสมอภาค…(ของการจัดการ)” ไว้น่าสนใจว่า ความไม่เป็นธรรมของการเรียนการสอนวิชาดนตรี แม้จะมีมากขึ้นในระดับอุดมศึกษา แต่ในระดับการเรียนการสอนที่ต่ำกว่านั้นกลับยังมีความเหลื่อมล้ำที่สูงมากอยู่ บทความชิ้นนี้จึงเสนอแนวคิดยูดีแอล (Universal Design for Learning: UDL) มาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน สามแบบคือ เครือข่ายการรับรู้ที่หลากหลาย เครือข่ายกลวิธีที่หลากหลาย และเครือข่ายทางอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเข้าถึงการเรียนรู้ดนตรี ได้มากขึ้น

บทความวิชาการบทสุดท้ายเรื่อง “บทสำรวจทัศนะท่าทีสังคมไทยต่อแรงงานข้ามชาติผ่านพัฒนาการนโยบายและงานวิชาการด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติ” ของ ชลนภา  อนุกูล และศยามล  เจริญรัตน์ ที่หยิบยกนโยบายว่าด้วยเรื่องแรงงานข้ามชาติในสังคมไทยมาขยายความให้เข้าใจมากขึ้น และเป็นประเด็นที่น่าตกใจว่า แม้ประเทศไทยจะมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก แต่กลับไม่มีนโยบายแรงงานข้ามชาติในนโยบายระดับประเทศเลย อีกทั้งตีแผ่ความย้อนแย้งของแนวคิดเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ หรือความเป็นพลเมืองกับแนวคิดเรื่องสวัสดิการคนทำงาน ได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย ซึ่งถือเป็นความท้าทายแนวนโยบายในอนาคตอย่างมาก

งานปริทัศน์หนังสือเรื่อง “บทสำรวจวาทกรรมชนบทและบ้านนอกในความเป็นไทย รื้อ - สร้าง- ทบทวนสำนึกและมายาคติต่อความขัดแย้ง และความเหลื่อมล้ำของชนบทกับเมือง ตั้งแต่ไพร่ ชาวนา คนเสื้อแดง ถึงชนชั้นกลางใหม่” ของ สามชาย ศรีสันต์ นักวิชาการสายพัฒนาจาก วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วยอึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริทัศน์โดย ซูไฮลี ยามา ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของเมืองกับชนบทที่มากไปกว่าแค่เรื่องเชิงพื้นที่  ชีวิตของผู้คนที่แตกต่าง การนิยามความหมายที่เกิดจากการพัฒนา รวมไปถึงวาทกรรมที่ผูกเอาความเป็นชนบท และความเป็นเมืองให้ยิ่งแตกต่างและสร้างนัยยะที่มากกว่านั้น

สุดท้ายนี้ วารสารยังคงเปิดรับงานวิชาการที่น่าสนใจและมีคุณค่ารวมไปถึงผลงานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ ที่วารสารกำหนดเพื่อให้เกิดพื้นที่แห่งการแบ่งปันความรู้ในวงวิชาการ เราหวังจะเป็นการเปิดพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างมีคุณค่าเพื่อพัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และหวังให้เราสามารถก้าวเข้าสู่มาตรฐานวารสารที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

Downloads

Published

31-08-2022