Book Review : Islam and Social Work: Debatings values, transforming practice
Keywords:
Islam, Social Work, Debatings values, transforming practiceAbstract
ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา กระแสความเป็นมุสลิมถูกพาดพิงถึงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลก มุสลิมยังถูกมองว่าเป็นผู้กระทำผิด เป็นต้นเหตุของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ความน่าสนใจดังกล่าวนำไปสู่การให้ความสนใจของผู้คนต่อทุกรายละเอียดในศาสนาอิสลาม ในความเป็นมุสลิม สำหรับสังคมไทย นอกเหนือจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ยาวนานมากกว่า 10 ปีที่ความเป็นมุสลิมมักถูกโยงให้เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้ก่อให้เกิดความไม่สงบ ในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยของ “มุสลิมโรฮีนจา”(Rohingya) กลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศพม่า ชาวจีนมุสลิมชนชาติ “อุยกูร์” (Uyghur) เชื่อมโยงไปถึงการวางระเบิดศาลพระพรหมในกรุงเทพมหานคร มากไปกว่านั้น ที่ดูเป็นการก่อการร้ายสากลที่สร้างความรุนแรง ความหวาดกลัว ในหลายพื้นที่ของโลก มีการกล่าวพาดพิงว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเป็นการกระทำของ “ไอซิส” (Islam State of Iraq and al-Sham: ISIS) ซึ่งหมายถึงรัฐอิสลามในอิรักและอัล-ชาม (ซีเรีย) เหล่านี้ทำให้ผู้ที่ไม่มีความรู้และไม่เข้าใจในศาสนาอิสลามอย่างแท้จริงต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม และความโหดร้ายของมุสลิม จนเกิดกระแสการต่อต้าน รังเกียจมุสลิมไปทั่วโลก …ในขณะที่อีกมุมของโลก หลายคนอาจมองไม่เห็น หรือมองข้ามความรุนแรง ไม่ได้ยินเสียงของมุสลิมที่เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง ความสูญเสียที่มุสลิมได้รับอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานจนไม่อาจประเมินค่าการสูญเสียได้ พวกเขาถูกกระทำให้อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจนแทบจะเป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวัน การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นถูกทำให้เป็นความปกติ เงียบ ไม่มีเสียง ไม่มีพลังที่จะไปต่อรองกับใคร เมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ ที่อำนาจของเสียงที่มีทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต อาวุธที่ครอบครองพร้อมที่จะจัดการกับผู้เกี่ยวข้องอย่างรุนแรง โดยการตัดสินความผิดเอง และไม่สนใจว่าผู้ได้รับผลกระทบจะเป็นใครบ้าง เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของปาเลสไตน์ ซีเรีย อิรัก และประเทศมุสลิมอื่นๆ สถานการณ์ที่ดูเหมือนเป็นการลงโทษมุสลิมผู้กระทำผิดของประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทประหนึ่งศาลโลกเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดกระแสการต่อต้านความเป็นมุสลิมของบุคคลในเกือบทุกประเทศทั่วโลก มุสลิมกลายเป็นภาพตัวแทนของความรุนแรง ความโหดร้าย ความน่ากลัว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม บทวิจารณ์หนังสือในครั้งนี้ มิได้มุ่งไปที่ความรุนแรงที่เกริ่นนำในข้างต้น แต่เป็นหนังสือที่พยายามสะท้อนภาพและอภิปรายถึงหลักคำสอนของมุสลิมในเกือบทุกด้านที่มีความเป็นอัตลักษณ์ เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตซึ่งผนวกรวมการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาเข้าไว้ด้วยกัน เนื้อหาอาจช่วยสร้างความเข้าใจต่อมุสลิมได้ในบางบริบทและบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีการอธิบายเล็กน้อยถึงสงครามศาสนา (ญิฮาด) ในบทนำด้วย เป้าหมายของหนังสือ “อิสลามและสังคมสงเคราะห์” พยายามอธิบายและชี้ให้เห็นวัฒนธรรมมุสลิมที่ผู้เกี่ยวข้องต่างต้องเรียนรู้และให้ความเคารพในคำสอนที่มีความเฉพาะ เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ผู้วิจารณ์ซึ่งมีความเป็น “คนใน” มีความสนใจงานด้านสังคมสงเคราะห์สำหรับมุสลิมเป็นพิเศษ แต่แทบไม่มีหนังสือเล่มใดที่มีในห้องสมุดต่างๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ชัดเจน เป็นเรื่องเป็นราว ในที่สุดก็ได้รับความอนุเคราะห์จากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการซื้อหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ผู้เขียนและผู้สนใจได้ศึกษาและเข้าใจในงานสังคมสงเคราะห์สำหรับมุสลิมชัดเจนมากขึ้น จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
Additional Files
Published
How to Cite
Issue
Section
License
The manuscripts published in the Social Work Journal is the copyright of the Social Work Journal, Thammasat University
Any article or opinion appeared in the Social Work Journal will solely be under the responsibility of the author The Faculty of Social Administration, Thammasat University and the editors do not need to reach in agreement or hold any responsibility.