การศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้ของครูที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
คำสำคัญ:
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ, การจัดการเรียนการสอนบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการเรียนการสอนของครูที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เปรียบเทียบรูปแบบและสภาพการจัดการเรียนการสอนของครูที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เมื่อประสบการณ์การสอนและสังกัดต่างกัน และศึกษาสภาพปัญหาในการจัดการเรียนการสอนของครูที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ ครูผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 426 คน โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือการวิจัยคือแบบสอบถามการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียน แบ่งเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของครู ตอนที่ 2 คือ สภาพการจัดการเรียนการสอนของครูเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียน และตอนที่ 3 คือ สภาพปัญหาในการจัดการเรียนการสอนของครูเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย และสถิติอนุมาน
ผลการวิจัยพบว่า ครูส่วนใหญ่ใช้รูปแบบการจัดการสอนแบบบรรยาย รองลงมาคือ การทำกิจกรรมกลุ่ม การสอนแบบสาธิต และการอภิปราย นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบยังพบว่า 1) เมื่อประสบการณ์การสอนและกลุ่มสาระที่ต่างกัน ครูมีการใช้รูปแบบการเรียนการสอนแตกต่างกัน 2) เมื่อประสบการณ์การสอนต่างกัน พบว่า สภาพการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 แบบ ไม่แตกต่างกัน และเมื่อครูสอนกลุ่มสาระต่างกัน พบว่า สภาพการจัดการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้แบบร่วมมือแตกต่างกัน 3) เมื่อครูมีประสบการณ์การสอนที่ต่างกันจะมีสภาพปัญหาในการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณด้านความรู้ในการจัดการเรียนรู้ ด้านสภาพแวดล้อมในการจัดการเรียนรู้ และด้านทัศนคติที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ แตกต่างกัน และไม่พบความแตกต่างของสภาพปัญหาในการจัดการเรียนการสอนเมื่อผู้สอนมีกลุ่มสาระที่ต่างกัน