กฎหมายต้นแบบเพื่อการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และวิธีพิจารณาคดีสิทธิมนุษยชน

ผู้แต่ง

  • อนันต์ เพียรวัฒนะกุลชัย หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี

คำสำคัญ:

ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กฎหมายวิธีพิจารณา, คดีสิทธิมนุษยชน

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากฎหมายการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและวิธีพิจารณาคดีสิทธิมนุษยชนในด้านโครงสร้างกฎหมาย หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาคดีสิทธิมนุษยชน สถานภาพของการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน ขอบเขตอำนาจศาลสิทธิมนุษยชน คุณสมบัติผู้พิพากษาและองค์คณะผู้พิพากษา กระบวนวิธีพิจารณาคดีสิทธิมนุษยชน และระบบการพิจารณาของศาลสิทธิมนุษยชน พบว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีศาลสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความคดีสิทธิมนุษยชน เป็นศาลชำนัญพิเศษในศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีความสมบูรณ์ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ด้วยการจัดทำเป็นกฎหมายต้นแบบเพื่อการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนและวิธีพิจารณาความคดีสิทธิมนุษยชนที่มีโครงสร้างเป็นระบบการพิจารณาคดีแบบไต่สวน ศาลสามารถค้นหาพยานหลักฐานได้ในลักษณะพยานหลักฐานของศาล ส่วนคุณสมบัติของตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีสิทธิมนุษยชนให้เป็นอำนาจหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่ง และให้ใช้ระบบการโอนผู้พิพากษาจากศาลยุติธรรมและศาลปกครองที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาเป็นองค์คณะร่วมกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นลักษณะเฉพาะคดีตามคำสั่งของประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี นอกจากนั้น เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีสิทธิมนุษยชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงให้มีการนำมาตรการทางอาญามาใช้ในกระบวนการการสอบสวนคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการออกหมายอาญา การคุ้มครองพยาน การคุ้มครองชั่วคราว หรือการเยียวยาความเสียหาย จะทำให้การพิจารณาคดีสิทธิมนุษยชนมีประสิทธิภาพขึ้น

มีข้อเสนอแนะว่า ควรให้ยกร่างกฎหมายการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและวิธีพิจารณาคดีสิทธิมนุษยชนเป็นศาลชำนัญพิเศษคดีสิทธิมนุษยชนในศาลรัฐธรรมนูญแยกออกจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เพื่อการพิจารณาคดีสิทธิมนุษยชน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-25