การฟ้องคดีอาญาของประชาชนและองค์กรเอกชนในคดีสิ่งแวดล้อม
คำสำคัญ:
การฟ้องคดีอาญา, สิ่งแวดล้อม, ประชาชนและองค์กรเอกชนบทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1) ศึกษาทบทวน แนวคิด ทฤษฎี การมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรเอกชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ 2) ศึกษาปัญหาและข้อจำกัดทางด้านกฎหมายของการฟ้องคดีอาญาของประชาชนและองค์กรเอกชนในกรณีที่ไม่ใช่ผู้เสียหายทางสิ่งแวดล้อม 3) ศึกษาและวิเคราะห์กฎหมายของต่างประเทศที่ให้ประชาชนและองค์กรเอกชนมีอำนาจฟ้องคดีอาญาทางสิ่งแวดล้อม เปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และ 4) เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในการให้อำนาจแก่ประชาชนและองค์กรเอกชนมีอำนาจฟ้องคดีอาญาทางสิ่งแวดล้อม ระเบียบวิธีการวิจัยที่ใช้คือ การวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ประกอบด้วย การวิจัยเอกสาร (documentary research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview)
ผลการวิจัยพบว่า เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาทางสิ่งแวดล้อม ถือว่ารัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดี เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายจึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ประชาชนและองค์กรเอกชนไม่สามารถฟ้องคดีอาญาเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ถือเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ผู้วิจัยเสนอแนะให้มีการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยกำหนด ให้ประชาชนและองค์กรเอกชนมีอำนาจฟ้องคดีอาญาทางสิ่งแวดล้อมได้แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้เสียหายก็ตาม ควรศึกษาและวิจัยในเรื่อง “กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาทางสิ่งแวดล้อม” ต่อไป