ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางคอมพิวเตอร์

ผู้แต่ง

  • ชัชทพงษ์ เชื้อดี

คำสำคัญ:

การคุกคามทางคอมพิวเตอร์, ปัญหาทางกฎหมาย

บทคัดย่อ

ปัญหาการคุกคามที่เกิดขึ้นจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด มีความแตกต่างจากการคุกคามทั่วไปในอดีต เนื่องจากการคุกคามทางคอมพิวเตอร์สามารถกระทำได้จากที่ใดก็ได้ เวลาใดก็ได้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ถูกคุกคาม เกิดความหวาดกลัวในความไม่ปลอดภัยของตนเองหรือคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวของผู้ถูกคุกคาม ทั้งยังส่งผลถึงความไม่ปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งการคุกคามทางคอมพิวเตอร์นี้อาจไม่สามารถเข้าถึงผู้กระทำความผิดได้ หรือเข้าถึงได้ยากหรือไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด เพราะการคุกคามทางคอมพิวเตอร์นี้ผู้กระทำความผิดสามารถปกปิดสถานะของตนเองได้ ทำให้มีความแตกต่างจากการคุกคามทั่วไปที่ผู้เสียหายสามารถรู้ตัวผู้กระทำความผิดและความประสงค์ของผู้คุกคาม ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำหรือผู้ถูกคุกคามทางคอมพิวเตอร์ไม่สามารถระมัดระวังหรือป้องกันตนเองได้ เพราะไม่รู้ว่าการคุกคามนั้นมาจากที่ใด จากผู้ใด และมีเจตนาไปในทางใดอย่างชัดเจน ปัจจุบัน ความผิดฐานการคุกคามมีเพียงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท” เป็นบทบัญญัติที่ใช้กับการคุกคามทั่วไป (stalking) เช่น การติดตาม ตะโกน ด่าซ้ำไปซ้ำมา รบกวนการทำงาน ส่งเสียงดังทำให้เดือดร้อนรำคาญ หรือรวมถึงกระทำการอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ(harassment) เช่น คุกคาม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนด้วยคำพูด กริยาท่าทาง หรือการจ้องมองที่มุ่งในทางเพศ จึงควรมีการกำหนดความผิดและโทษในการคุกคามทางคอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันและปราบปรามการคุกคามที่เกิดขึ้นกับปัจเจกชนต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-04-08