คุณภาพบริการพยาบาลงานแผนกผู้ป่วยนอกจักษุวิทยา โรงพยาบาลสิงห์บุรี ตามความคาดหวังของผู้รับบริการ

ผู้แต่ง

  • อำนวยพร เทศนา

คำสำคัญ:

คุณภาพบริการพยาบาล, ความคาดหวังของผู้รับบริการ, แผนกผู้ป่วยนอกจักษุวิทยา โรงพยาบาลสิงห์บุรี

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพงานบริการพยาบาลและเปรียบเทียบคุณภาพงานบริการพยาบาลจักษุวิทยา แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสิงห์บุรี ตามความคาดหวังของผู้รับบริการ ที่จำแนก ตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ จำนวนครั้งที่มารับบริการของผู้รับบริการ และการได้ยินคำบอกเล่า โดย กลุ่มประชากรคือ ผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกจักษุวิทยา โรงพยาบาลสิงห์บุรี ที่มีคุณสมบัติตาม ที่กำหนด และสุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 60 คน ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคม 2561 ถึง มกราคม 2562 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดเครื่องมือ วัดคุณภาพบริการของพาราสุราแมนและคณะ ประกอบด้วยข้อคำถามทั้งสิ้น 26 ข้อ ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา ของเครื่องมือโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และหาค่าความเที่ยงของเครื่องมือโดยวิธีสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’salpha coefficient) ได้ค่าเท่ากับ .97 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ คะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบ Independent t -test และสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวน (one-way ANOVA) พบว่า

1. ผู้รับบริการแผนกผู้ป่วยนอกจักษุวิทยา โรงพยาบาลสิงห์บุรี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 53.33 มีอายุระหว่าง 41-50 ปี มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 25.00 การศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับปริญญาตรีและสูงกว่า คิด เป็นร้อยละ 26.67 มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาท และ 5,001-10,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 23.33 จำนวนครั้งของการมาใช้บริการมากกว่า 3 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 33.33 การได้ยินคำบอกเล่าเกี่ยวกับแผนกผู้ป่วยนอกจักษุวิทยา ส่วนใหญ่เป็นด้านบวก คิดเป็นร้อยละ 45.00
2. ผู้รับบริการมีความคาดหวังต่อคุณภาพงานบริการพยาบาลจักษุวิทยา แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสิงห์บุรีโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า คะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ ความคาดหวังคุณภาพบริการด้านความเป็นรูปธรรมของบริการและด้านความเชื่อมั่นในบริการ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก รองลงมาคือ ความคาดหวังด้านความเชื่อถือไว้วางใจ อยู่ในระดับมาก และคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดคือ ความคาดหวังต่อคุณภาพบริการด้านการตอบสนองต่อผู้รับบริการ อยู่ในระดับมาก
3. คุณภาพงานบริการพยาบาลจักษุวิทยา แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสิงห์บุรี ตามความคาดหวังของผู้รับบริการในกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน พบว่ามีความคาดหวังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพบว่ากลุ่มอายุ 30-39 ปี มีความคาดหวังแตกต่างจากกลุ่มอายุ 50-59 ปี และกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยในกลุ่มที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีความคาดหวังแตกต่างจากกลุ่มอายุ 40-49 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สำหรับคุณภาพงานบริการพยาบาลจักษุวิทยา แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสิงห์บุรี ตามความคาดหวัง
ของผู้รับบริการที่มีเพศ ระดับการศึกษา รายได้ จำนวนครั้งที่มารับบริการ และการได้ยินคำบอกเล่าที่แตกต่างกัน พบว่ามีความคาดหวังไม่แตกต่างกัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-04-08