การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา

ผู้แต่ง

  • สุระทิน ชัยทองคำ คณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม ชลบุรี

คำสำคัญ:

คำสำคัญ : การไกล่เกลี่ย, การระงับข้อพิพาท,ข้อพิพาททางอาญา

บทคัดย่อ

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี ส่งผลให้โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้สังคมอ่อนแอก่อให้เกิดอาชญากรรมได้โดยง่ายและเพิ่มมากขึ้นทุกวันส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และมีคดีขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมากส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาคดีและสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน จากปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐหาแนวทางและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลจนในที่สุดได้ออกกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้ยุติลงด้วยการเจรจาหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวก็ยังมีข้อจำกัดในการกำหนดฐานความผิดที่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กล่าวคือ ต้องเป็นความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีเท่านั้น จึงทำให้การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคหนึ่ง ซึ่งพฤติการณ์ของการกระทำไม่ร้ายแรงและไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยรวม ทำให้ไม่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นการสอบสวนได้ เพราะมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี เห็นควรเพิ่มความผิดฐานลักทรัพย์ มาตรา 335 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งจะทำให้พนักงานสอบมีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิมในการออกคำสั่งให้คู่กรณีสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาให้ยุติลงโดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-20