การสังเคราะห์รายงานการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ของศูนย์พัฒนาเด็ก สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาอาชีวศึกษา และสถานศึกษาอุดมศึกษา
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1) เพื่อสังเคราะห์ผลการประเมินและความเห็นของผู้ประเมินที่ได้รับจากรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ของ สมศ. 2) เพื่อประเมินคุณภาพของรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ของ สมศ. และ 3) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การวิจัยเชิงปริมาณ ประชากร คือผู้แทนสถานศึกษา จำนวน 123 คน การวิจัยเชิงคุณภาพ ตัวอย่าง คือ 1) รายงานการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ จำนวน 123 ฉบับ แบ่งออกเป็น ศูนย์พัฒนาเด็ก จำนวน 66 ฉบับ สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 24 ฉบับ สถานศึกษาอาชีวศึกษา จำนวน 30 ฉบับ และสถานศึกษาอุดมศึกษา จำนวน 3 ฉบับ และ 2) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน และผู้แทนสถานศึกษารวม จำนวน 22 คน เครื่องมือวิจัยมี 8 ฉบับ การวิจัยเชิงปริมาณเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและแบบประเมิน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสังเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์ และการเก็บข้อมูลภาคสนาม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงบรรยาย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์คำหลัก ผลการวิจัย พบว่า 1) ศูนย์พัฒนาเด็ก มีผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับดี สถานศึกษาขั้นพื้นฐานผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับดีมากทั้งในระดับการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาอาชีวศึกษา ผลการประเมินในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก สถานศึกษาอุดมศึกษา ในแต่ละประเด็นพิจารณามีผลประเมินตั้งแต่ระดับปรับปรุง พอใช้ ดี และดีมาก แต่ไม่มีระดับดีเยี่ยม 2) คุณภาพของรายงานการประเมินอยู่ในระดับได้มาตรฐานในทุกประเภทของสถานศึกษา และ 3) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของทุกประเภทสถานศึกษา คือ ต้นสังกัดและสถานศึกษาควรนำผลประเมินภายนอกรอบสี่ไปปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับ สมศ. ได้แก่ การส่งรายงานการประเมิน และการเขียนข้อเสนอแนะ