การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของกระทรวงสาธารณสุขในการสื่อสารภาวะวิกฤตโรคโควิด 19

ผู้แต่ง

  • กัญญ์วรา ศิริสมบูรณ์เวช สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

คำสำคัญ:

การสื่อสารในภาวะวิกฤต, สื่อสังคมออนไลน์, กระทรวงสาธารณสุข, โรคโควิด19

บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปิดรับข่าวสาร การใช้ประโยชน์จากข่าวสาร และความพึงพอใจข่าวสาร และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสาร การใช้ประโยชน์จากข่าวสารและความพึงพอใจข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเพจกระทรวงสาธารณสุขของผู้ติดตามเฟซบุ๊กเพจ โดยเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ติดตามเฟซบุ๊กเพจของกระทรวงสาธารณสุขที่เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด 19 จำนวน 400 คน สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัย พบว่า การเปิดรับข่าวสารของกลุ่มตัวอย่าง มีระยะเวลาในการติดตามข่าวสาร 2 ปีขึ้นไป ความถี่ในการเปิดรับข่าวสารนาน ๆ ครั้ง ไม่ได้เปิดทุกสัปดาห์ มีระยะเวลาเฉลี่ยต่อครั้งในการเปิดรับข่าวสารน้อยกว่า 15 นาที โดยมีการใช้ประโยชน์จากข่าวสารอยู่ในระดับมาก (อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 3.98) และความพึงพอใจข่าวสารอยู่ในระดับมาก (อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 4.09) ส่วนความสัมพันธ์ของตัวแปร พบว่า การเปิดรับข่าวสารมีความสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์จากข่าวสาร ซึ่งความถี่ในการเปิดรับมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการใช้ประโยชน์ในระดับต่ำอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนระยะเวลาเฉลี่ยต่อครั้งในการเปิดรับ และระยะเวลาในการติดตามมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการใช้ประโยชน์ในระดับต่ำมากอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ขณะที่การเปิดรับข่าวสารมีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจข่าวสาร โดยความถี่ในการเปิดรับ ระยะเวลาเฉลี่ยต่อครั้งในการเปิดรับ และระยะเวลาในการติดตามมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในระดับต่ำมากอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนการใช้ประโยชน์จากข่าวสารและความพึงพอใจข่าวสารมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับสูงอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-01-02