ยกระดับการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงของชุมชนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี

ผู้แต่ง

  • จุฑาธิปต์ จันทร์เอียด คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คำสำคัญ:

การยกระดับ, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, ทรัพยากรท้องถิ่นเศรษฐกิจสร้างสรรค์, ชุมชนเกาะล้าน

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษา และประเมินพรรณไม้บริเวณระบบนิเวศป่าบนเกาะบนพื้นที่เกาะล้าน สู่การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี 2) เพื่อศึกษาความพร้อมของชุมชนและความต้องการของนักท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ชุมชนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี 3) ยกระดับการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงของชุมชนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสานวิธีระหว่างเชิงวิจัยปริมาณ และวิจัยเชิงคุณภาพ พื้นที่วิจัย คือ ชุมชนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณ จำนวน 385 คน เนื่องจากไม่ทราบขนาดของประชากรที่แน่นอน แต่ทราบว่ามีจำนวนมากและต้องการประมาณค่าสัดส่วนของกลุ่มประชากร โดยใช้ระดับความเชื่อมั่น 95% ความคลาดเคลื่อนเท่ากับ 5% ได้กลุ่มตัวอย่าง ผู้ให้ข้อมูลสำคัญเชิงคุณภาพ จากเป็น 5 กลุ่ม โดยผู้วิจัยได้คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ รวมจำนวน 25 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบการตรวจสอบทรัพยากรท่องเที่ยว แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบประเมินมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และแบบสอบถามแบบใช้การวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยเชิงคุณภาพวิเคราะห์ด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) การวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินพรรณไม้ และการวิเคราะห์เชิงปริมาณด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติด้านมนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ผลการสำรวจ การสำรวจเบื้องต้นในเส้นทางธรรมชาติบนเขาสังวาล และเขานมสาวพบว่า มีสภาพป่าเป็นป่าผลัดใบแคระ โดยพบพรรณไม้เด่น ได้แก่ กลุ่มไม้ต้น เช่น คำมอกหลวง หรือต้นไวอะกร้า (Gardenia sootepensis Hutch) ไม้พุ่ม เช่น ติ้วขน หรือติ้วแดง (Cratoxylum formosum subsp. pruniflorum (Kurz) Gogelein) ไม้ล้มลุก ได้แก่ หนอนตายหยาก (Stemona phyllantha Gagnep) เป็นต้น ส่วนผลการศึกษาศักยภาพของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศก่อนกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี พบว่า มีมาตรฐานคุณภาพ โดยรวมอยู่ในระดับ ดี คือ มีคะแนนจากการประเมินเท่ากับ 64 คะแนน หรือร้อยละ 64 ส่วนผลการประเมินหลังผ่านกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในระยะเวลา 10 เดือน พบว่า มีมาตรฐานคุณภาพ โดยรวมอยู่ในระดับ ดีมาก คือ มีคะแนนจากการประเมินเท่ากับ 76 คะแนน หรือ ร้อยละ 76 คณะผู้วิจัยขอนำเสนอแนวทางการยกระดับการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นด้วย BCG Model สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูงของชุมชนเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ดังนี้ 1) แนวทางการสร้างฐานข้อมูลพรรณไม้เพื่อให้ความรู้ และยกระดับการสื่อความหมายของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศบนฐานทรัพยากรท้องถิ่นด้วย G-Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ให้เป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงธรรมชาติตามแนวเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้มีความยั่งยืน 2) แนวทางการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานของสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ทางธรรมชาติร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ หรือเทคโนโลยี ในการสร้างสรรค์สินค้าและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ ตามแนว C-Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวจะต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ 3) แนวทางการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและเข้ามามีอิทธิพลต่อกระบวนการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนตามแนว C-Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเสมอภาค

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-12-31