รูปแบบการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสำหรับชาวตะวันออกกลางในประเทศไทย: บุคลากรทางสุขภาพควรตระหนัก

ผู้แต่ง

  • กริช อึ้งวิฑูรย์สถิตย์ สภาธุรกิจไทย-เมียนมา
  • จรินทร์ เจริญศรีวัฒนกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • พิชา คนกาญจน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คำสำคัญ:

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, ชาวตะวันออกกลาง

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้แก่ชาวตะวันออกกลางที่พำนักและท่องเที่ยวในประเทศไทย ปกติชาวตะวันออกกลางที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลหรือหน่วยงานต้นสังกัด ในการตรวจสุขภาพหรือการรักษาพยาบาลจะเดินทางมารับบริการจากสถานพยาบาลในประเทศไทย เพราะความเชื่อมั่นที่มีต่อการตรวจรักษา และการให้บริการทางการแพทย์ รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาลไทยที่ถูกกว่าประเทศแถบตะวันตกและอเมริกา กลายเป็นแรงดึงดูดและจูงใจให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่วนใหญ่นิยมเดินทางเข้ามาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิภาคตะวันออกกลางมีภูมิอากาศร้อนจัด และมีความชื้นสูง จึงหนีจากสภาพอากาศดังกล่าวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2561 ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของชาวตะวันออกกลาง 2,553.81 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาถึงอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพและรูปแบบการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ เช่น ความแตกต่างทางด้านภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาและวิถีการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะผู้เขียนจึงมีความสนใจที่จะศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์รูปแบบของการบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแก่ชาวตะวันออกกลางให้สอดคล้องกับบริบท สภาพปัญหาและความต้องการปัจจุบัน ทำการศึกษาด้วยวิธีการทบทวนเอกสาร วิเคราะห์ และสังเคราะห์เนื้อหา นำเสนอผลสรุปในรูปแบบบทความทางวิชาการ จากผลการศึกษาพบว่า 1) ควรจัดรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยเน้นภูมิปัญญาไทย 2) การจัดฝึกอบรมแก่บุคลากรทางการแพทย์ และล่ามแปลภาษา 3) การส่งเสริมให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การสร้างเสริมสุขภาพในระบบท่องเที่ยว 4) การจัดเตรียมความพร้อมของเครื่องมือแพทย์และยารักษาโรค และ 5) การสนับสนุนให้จัดตั้งร้านอาหารฮาลาล ทั้ง 5 ประเด็น เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-05-01