ปรัชญาแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองกับการกำกับดูแลผังรายการและเนื้อหารายการ

Authors

  • กสทช.พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ

Abstract

คนส่วนใหญ่มักจะแสดงความคิด ความเห็น หรือความเชื่อต่อปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันไปตามความเคยชินจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต ประสบการณ์เหล่านี้อาจเกิดจากการเลี้ยงดูในครอบครัว การเรียนในระบบโรงเรียน การเรียนรู้จากการใช้ชีวิตประจำวัน รวมตลอดถึงการศึกษาจากแหล่งความรู้ต่างๆทั้งในและนอกระบบสถาบันการศึกษา ซึ่งมีน้อยคนนักที่ตระหนักว่าความคิดความเห็น และความเชื่อของตนที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ นั้นมักจะมีกรอบคิด หรือทฤษฎีอยู่เบื้องหลังเสมอ ดังนั้น ในปรากฏการณ์หนึ่งๆคนเราจึงมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป เช่นเมื่อมีการตั้งคำถามว่าทำไมคนส่วนใหญ่ในประเทศด้อยพัฒนาประเทศหนึ่งจึงมีฐานะยากจน หากตอบแบบอิงทฤษฎีแบบไม่ต้องโต้แย้งคำถาม คำตอบก็อาจจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหน่วยในการวิเคราะห์ กล่าวคือ กลุ่มที่มองตัวบุคคลเป็นหน่วยในการวิเคราะห์ก็จะบอกว่า เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ขี้เกียจ ฟุ่มเฟือย มีพฤติกรรมเฉื่อยชาล้าหลัง ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็จะบอกว่าเป็นเพราะระบบหรือกลไกการจัดการในสังคมมีปัญหา เช่นนักการเมืองโกงเพราะรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายไม่ดี เศรษฐกิจแย่เพราะผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์ ขาดนโยบายและทักษะการจัดการ  การแก้ไขปัญหาจึงมุ่งไปที่การปรับปรุงปฏิรูประบบต่างๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็จะมองข้ามปัจจัยด้านตัวบุคคลและระบบการจัดการ ไปให้ความสำคัญกับโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นโครงสร้างหลักของสังคมนั้น โดยเห็นว่าสาเหตุหลักของปัญหาความยากจนมาจากโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์ผูกขาดการเมืองและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรด้านต่างๆ ดังนั้น แม้ว่าจะขยันเก็บออมมากเพียงไหน รายได้ก็ยังไม่พอค่าใช้จ่าย แปลว่าถึงจะทำงานหนักแต่ก็ยังยากจนอยู่ดี  ในทางวิชาการเรียกที่มาของชุดคำอธิบายที่แตกต่างกันนี้ว่า ทฤษฎีหรือกรอบแนวคิด นั่นหมายความว่า ทฤษฎีที่ต่างกัน คำอธิบายก็ย่อมต่างกัน การให้ความเห็นต่อประเด็นทางสังคมจึงขึ้นอยู่กับเหตุผลและมุมมอง อาศัยบริบท ณ ช่วงเวลานั้นๆมาพิจารณาประกอบ และเป็นการยากที่จะมีคำตอบแบบสำเร็จรูป ตายตัว

Downloads

Published

19-04-2018

How to Cite

มานะกิจ ก. ด. (2018). ปรัชญาแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองกับการกำกับดูแลผังรายการและเนื้อหารายการ. Journal of Digital Communications, 1(1), 15–23. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NBTC_Journal/article/view/119268

Issue

Section

Special article