วงเครื่องสายผสมกับปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านงานดนตรีในสยาม -
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านงานดนตรีไทยในสยามผ่านวงเครื่องสายผสม ซึ่งเป็นวงดนตรีไทยร่วมสมัยประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เครื่องสายผสมเป็นวงดนตรีไทยที่แสดงให้เห็นถึงการก้าวข้ามมโนทัศน์วงเครื่องสายในอดีต แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีนอกวัฒนธรรมไทย สะท้อนความเป็นดนตรีร่วมสมัยทั้งในด้านแนวคิด หลักการบรรเลง การผสมวงที่มีความแตกต่างท้าทายแบบแผนการบรรเลงดนตรีไทยที่เคยมีมาในอดีต ดังนั้นพัฒนาการของวงดนตรีไทยที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาต่างๆ จึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการรับ การแลกเปลี่ยน รวมทั้งค่านิยมและกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกที่เข้ามาเป็นกำลังในการขับเคลื่อนพลังในการสร้างสรรค์และการประยุกต์วัฒนธรรมดั้งเดิมให้ดำเนินต่อไปได้ภายใต้การปรับตัวของกระแสโลกตะวันตกในเวลานั้น วงเครื่องสายผสมเป็นตัวแทนแนวคิดของดนตรีที่เน้นการแสดงออกในเรื่องความไพเราะ ความกลมกลืนของท่วงทำนองและการใช้เสียงของเครื่องดนตรีต่างชาติที่ให้คุณลักษณะเสียงแปลกใหม่ เลือกใช้เสียงประสาน ดำเนินทำนองอย่างคู่ 8 นิยมเลือกบทเพลงประเภทบังคับทางมาใช้ในการบรรเลงเพื่อแสดงถึงความไพเราะ ขณะเดียวกันก็ใช้เพลงประเภทดำเนินทำนองในการบรรเลงเพื่อแสดงถึงทักษะในการดำเนินทำนองรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการบรรเลงเพลงเดี่ยวเพื่ออวดฝีมือด้วย
วงเครื่องสายผสมยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการเรียนการสอนดนตรีไทย ซึ่งจากเดิมนั้นอาศัยการเรียนรู้จากสำนักดนตรีหรือบ้านเป็นหลัก ด้วยวัฒนธรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบปากต่อปาก ตัวต่อตัว ส่งผลให้รูปแบบการถ่ายทอดดนตรีไทยทุกประเภทอยู่ภายใต้โครงสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นแบบแผน ปรากฏเป็นขนบสืบทอดเรื่อยมา การเปลี่ยนแปลงกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตนักดนตรีชาวสยามในเวลานั้น ขณะเดียวกันการใช้เวลาว่างอย่างตะวันตกก่อให้เกิดรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ๆ เกิดการเรียนรู้และความนิยมแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง ไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่เมืองหลวงแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้พัฒนาการด้านการพิมพ์ยังก่อให้เกิดการสื่อสารองค์ความรู้จากเดิมที่ใช้การถ่ายทอดด้วยการต่อเพลงโดยตรงจากครูสู่ศิษย์ เป็นการสื่อสารเรียนรู้ผ่านสื่อระบบโน้ตตัวเลข โน้ตซอลฟา แบบฝึกด้วยตนเอง และแผ่นเสียง ส่งผลให้ผู้เรียนบางกลุ่มไม่ต้องพึ่งพาสำนักดนตรีอย่างเคร่งครัด เป็นการถ่ายทอดดนตรีไทยรูปแบบใหม่ที่ข้ามผ่านวัฒนธรรมการถ่ายทอดดนตรีไทยซึ่งอาศัยครูเป็นสำคัญ
Article Details
References
นิธิศ แปงน้อย. (2554). ดนตรีล้านนาร่วมสมัย พ.ศ.1839-2552 (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาดนตรีวิทยา). มหาวิทยาลัยมหิดล, นครปฐม.
พูนพิศ อมาตยกุล. (2561, 5 กุมภาพันธ์). [บทสัมภาษณ์]. สิทธิธรรม โรหิตะสุข. (2559). ย้อนร่องรอยการจำหน่ายผลงานศิลปะของไทยช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ, 17(2), 9-17.
เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์. (2559, 18 ธันวาคม). [บทสัมภาษณ์].
สูจิบัตรงานสมโภชพระบรมรูปทรงม้า. (2452). พระนคร: โรงพิมพ์จีโนสยามวารศัพท์.
เอนก นาวิกมูล. (2547). เมื่อสมัย ร.5. กรุงเทพฯ: แสงดาว.