เปียโนกับเพลงไทย

Main Article Content

อริศรา มาตาคุณากร
พูนพิศ อมาตยกุล
อนรรฆ จรัณยานนท์
Nachaya Natchanawakul

Abstract

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา บทบาทและพัฒนาการของการบรรเลงเปียโนเพลงไทย รวมทั้งประวัติและผลงานที่สำคัญของนักเปียโนเพลงไทยในสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2560) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร งานวิจัยและการสัมภาษณ์
ผลการวิจัยพบว่า เปียโนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่ชาวตะวันตกเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในสังคมสยาม เปียโนเริ่มมีบทบาทครั้งแรกในราชสำนักเจ้าดารารัศมี เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีความชื่นชอบการดนตรีเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันเปียโนยังมีบทบาทต่อการศึกษาในโรงเรียนคริสต์หลายแห่งเช่นกัน เปียโนเป็นเครื่องดีดประเภทลิ่มนิ้วและมีช่วงเสียงกว้าง จึงมีการริเริ่มนำเปียโนเข้ามาผสมในวงเครื่องสายไทยจนเกิดเป็นวงเครื่องสายผสมเปียโน เช่น คณะนายแคล้ว วัชโรบล และได้บันทึกแผ่นเสียงขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ.2450 แต่ยังคงใช้รูปแบบการบรรเลงเปียโนเป็นคู่แปดอย่างระนาดเอก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการตั้งวงเครื่องสายผสมเปียโนขึ้น โดยใช้นักดนตรีหญิงล้วน มีครูสุมิตรา สุจริตกุล ทาหน้าที่บรรเลงเปียโนและถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการเดี่ยวเปียโนเพลงไทยซึ่งมีการใช้มือซ้ายบรรเลงคอร์ดอย่างตะวันตกในขณะที่มือขวาบรรเลงทำนอง สามารถบรรเลงบทเพลงประเภทต่างๆ ตั้งแต่เพลงสองชั้นไปจนถึงเพลงเดี่ยวขั้นสูง และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการบันทึกแผ่นเสียงบทเพลงไทยที่มีการเรียบเรียงเสียงประสานไว้อย่างสมบูรณ์ ในนามคณะ “นารีศรีสุมิตร” นักเปียโนเพลงไทยที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง คือ ครูพิมพ์ พวงนาค มีรูปแบบการบรรเลงเปียโนเพลงไทยที่ใช้การประสานเสียง (Accompaniment) เข้าไปในบางช่วงของทำนองเพลง สอดแทรกโน้ตประดับสลับกับทำนองเก็บในทำนองไทย ปัจจุบันมีการก่อตั้งสำนักเดี่ยวเปียโนเพลงไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ นักเปียโนเพลงไทยร่วมสมัยที่สำคัญและเป็นผู้เดียวที่สืบทอดการเดี่ยวเปียโนเพลงไทยจากครูสุมิตรา สุจริตกุล และพันเอกชูชาติ พิทักษากร สร้างสรรค์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงไทยสำหรับเดี่ยวเปียโนซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะโดยมีการเดินทำนองหลัก (Main Melody) อย่างฆ้องวงใหญ่ผสมผสานเทคนิคที่ปรากฏในดนตรีไทยและดนตรีตะวันตกได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกันยังมีการบันทึกโน้ตเปียโนเพลงไทยเป็นโน้ตสากลครั้งแรก ชื่อ “วรรณกรรมเปียโนแห่งกรุงสยาม” และถ่ายทอดรูปแบบดังกล่าวให้กับศิษย์ในสำนัก โดยสามารถรักษารูปแบบความเป็นไทยได้อย่างสมบูรณ์

Article Details

Section
Research Articles

References

ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์. (2557). สารานุกรมเพลงไทย. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล.

ณัฐชยา นัจจนาวากุล. (2555). ดนตรีฝรั่งในกรุงสยาม: พัฒนาการดนตรีตะวันตกในสังคมไทย ระหว่างปี พ.ศ.2384-2484 (วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาดนตรี). มหาวิทยาลัยมหิดล, นครปฐม.

พิมพ์ชนก สุวรรณธาดา. (2557). บทประพันธ์เพลงดุษฎีนิพนธ์: สยามดุริยลิขิต (วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาศิลปกรรมศาสตร์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

พูนพิศ อมาตยกุล. (2524). สยามสังคีต. กรุงเทพฯ: เจ้าพระยา.

พูนพิศ อมาตยกุล. (2554). การก่อเกิดเพลงไทยสากล: แนวคิดด้านดนตรีวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พูนพิศ อมาตยกุล. (2559, 24 กันยายน). [สัมภาษณ์].

อุฬาร เนื่องจำนงค์. (2529). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ นางฉัน หุ้มแพร (สุมิตรา สุจริตกุล). กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.