มาตุคามสำนึกและการโหยหาอดีตในกวีนิพนธ์ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

Main Article Content

ธัญญา สังขพันธานนท์

Abstract

บทความนี้มีจุดประสงค์สำคัญที่จะศึกษาสำนึกในถิ่นที่ (Sense of place) และการโหยหาสถานที่ (place nostalgia) ในกวีนิพนธ์ของรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ในด้านการนำเสนอและการประกอบสร้างความหมายในกวีนิพนธ์ที่เกี่ยวกับการสำนึกในถิ่นที่ โดยศึกษาจากรวมกวีนิพนธ์จำนวน 4 เล่ม คือ 1) บ้านแม่น้ำ 2) พันฝน เพลงน้ำ 3) แม่น้ำเดียวกัน และ 4) แม่น้ำรำลึก ผลการศึกษาพบว่า เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ใช้บทกวีเพื่อนำเสนออารมณ์ถวิลหาอดีตซึ่งมีศูนย์รวมอยู่ที่ถิ่นฐานบ้านเกิดอันเป็นท้องทุ่งชนบทของภาคกลาง สำนึกในถิ่นที่ได้รับการนำเสนอผ่านท่วงทำนองการเขียนแบบโหยหาอดีต ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การรำลึกถึงอดีตแห่งวัยเยาว์ที่ได้ผ่านมาแล้ว ผ่านร่องรอยหลักฐานหรือสัญญะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ธรรมชาติ ฤดูกาล พืช สัตว์ วัตถุข้าวของเครื่องใช้ และวิถีดำเนินชีวิตของผู้คนในชนบท สำนึกในถิ่นที่และการโหยหาอดีตในกวีนิพนธ์ของเรวัตร์เป็นวิธีการสำคัญที่กวีนำเสนอตัวตนและอัตลักษณ์ของตนเอง ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงมโนทัศน์และวิธีคิดของกวีที่มอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติว่า ธรรมชาติเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โอบอุ้มและค้ำจุนสรรพสิ่ง การดำเนินชีวิตภายใต้วิถีของธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมในชนบทเป็นวิถีที่งดงาม สงบ ปลอดภัยและพอเพียง ซึ่งเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ให้ความหมายว่า นี่คือวิถีของธรรมชาติ และวิถีไทที่นำไปสู่อิสรภาพแห่งชีวิต

Article Details

Section
บทความเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 72 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Author Biography

ธัญญา สังขพันธานนท์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม